“รร.รัฐการุณวิทยา”เครือข่ายการศึกษา CONNEXT ED โมเดลโรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธุ์ไข่ของซีพีเอฟ

โรงเรียนรัฐการุณวิทยา ตำบลทองหลาง อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนขนาดกลางที่มีจำนวนนักเรียน 231 คน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของไทย โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายความร่วมมือ ฯ

ซีพีเอฟ สนับสนุนโรงเรียน ดำเนิน “โครงการโรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธุ์ไข่” ตามความต้องการของโรงเรียนที่สอดรับกับสภาพแวดล้อม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน พัฒนาทักษะอาชีพ และส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และนำกรณีศึกษาจากโรงเรียน ภายใต้ ”โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นโครงการที่ซีพีเอฟร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมดำเนินโครงการมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี

จากจุดเริ่มต้นของความตั้งใจให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการจากไข่ไก่ ช่วยลดจำนวนนักเรียนที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการลงได้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเข้าร่วมโครงการ นักเรียนได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่อย่างถูกวิธี นำมาสู่การนำความรู้ไปบูรณาการการเรียนการสอนวิชาเกษตร อาทิ นำมูลไก่ไปทำปุ๋ย การปลูกผักสวนครัวโดยใช้ปุ๋ยที่เด็กนักเรียนช่วยกันผลิตเอง นำผักที่ปลูกกลับมาทำอาหารกลางวัน รวมไปถึงได้เรียนรู้การทำบัญชีผลผลิตไข่ไก่ที่เก็บได้ในแต่ละวัน “คุณครูไพทูรย์ พืชทองหลาง คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการ ฯ เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการฯ

นายปริญญา โพธินา ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐการุณวิทยา กล่าวว่า สิ่งที่ทางโรงเรียนและนักเรียนได้รับ คือ ครูผู้สอน และนักเรียน ได้รับความรู้ที่ถูกต้องในการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ จากสัตวบาลและทีมงานผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟ เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และรับผิดชอบลงบันทึกจำนวนผลผลิตไข่ไก่ในแต่ละวัน การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงานพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ นำผลผลิตจากไข่ไก่เพิ่มรายได้ให้กับโรงเรียน และสามารถเป็นต้นแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านโครงการฟาร์มไก่พันธุ์ไข่ให้แก่สถานศึกษาที่สนใจ และชุมชนใกล้เคียงเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ ด้วยอาชีพของผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่และชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย การได้รับความรู้จากการเลี้ยงไข่ไก่จะสามารถกลับไปช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับทางครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมชุมชนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย สามารถซื้อไข่ไก่ซึ่งเป็นผลผลิตของโรงเรียนเพื่อนำไปบริโภคในครัวเรือนในราคาย่อมเยา

ปัจจุบัน โรงเรียนรัฐการุณวิทยา เลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่สามแล้ว หลังจากที่โรงเรียนเริ่มโครงการเลี้ยงไก่ไข่เมื่อปี 2561 และโรงเรียนรับสมัครนักเรียนชั้นป.4 – ป.6 หมุนเวียนกัน ร่วมรับผิดชอบดูแลโรงเรือนวันละ 6 คน เพื่อให้อาหารไก่ ให้น้ำ ทำความสะอาดโรงเรือน เก็บไข่ไก่ คัดแยกขนาดของไข่ ฯลฯ เป็นกิจวัตรประจำวัน

ผลผลิตไข่ไก่ที่ได้นำไปประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนทั้งโรงเรียน ส่วนไข่ไก่ที่เหลือจากการบริโภคจัดจำหน่ายให้กับผู้ปกครองนักเรียนในราคาย่อมเยา ทำให้ชุมชนได้มีไข่ไก่คุณภาพดีบริโภค ซึ่งในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โรงเรียนจะลงไก่พันธุ์ไข่ จำนวน 150 ตัว เพิ่มขึ้นจากรุ่นหนึ่ง และรุ่นสอง ที่เลี้ยงไว้จำนวน 100 ตัว

“เด็กชายกฤษณะ สุขแสงรัตน์” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งช่วยดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่ เล่าว่า “ผมตั้งใจมาเป็นจิตอาสาช่วยดูแลโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ อยากได้ความรู้เพื่อกลับไปใช้ที่บ้าน ทำให้มีช่องทางสำหรับหารายได้ให้ครอบครัวเพิ่มมากขึ้น” ด้าน “เด็กหญิงพรประภา หลาบกลาง “นร.ชั้น ป.6 เล่าถึงความรู้สึกในการมีส่วนร่วมในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯว่า หน้าที่ที่ชอบคือ คัดไข่ไก่ เพราะผลผลิตไข่ไก่ที่เหลือจากการส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน จะมีการคัดแยกเพื่อจำหน่ายให้ชุมชน ผู้ปกครองนักเรียนในราคาย่อมเยาตามขนาดของไข่ ขณะที่ “เด็กหญิงพีรดา หมั่นกิจ” นร.ร่วมชั้นเรียนป. 6 บอกว่า จะนำความรู้การเลี้ยงไก่ไข่ ไปปรับวิธีการเลี้ยงไก่ของที่บ้านให้เป็นระบบมากขึ้น

โครงการ CONNEXT ED โดยมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ร่วมพัฒนาโรงเรียนในความดูแล 5,567 แห่ง ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ โดยซีพีเอฟเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายความร่วมมือ ที่ร่วมดูแลโรงเรียน 296 แห่ง เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างรอบด้าน นำไปสู่การสร้างเด็กดี เด็กเก่ง เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป