บีทีเอส กางแผนลงทุนแสนล้านปี 2020 ลุยขยายเส้นทางรถไฟฟ้า สร้างงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน” ว่า ในปี 2020 บริษัทวางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มูลค่านับแสนล้านบาท ประกอบด้วย

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดำเนินงานโดยบีทีเอสซี มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการประชาชนทั้งสิ้น 52 สถานี จากสถานีเคหะฯ จ.สมุทรปราการ-สถานีคูคต จ.ปทุมธานี และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีบางหว้า รวมระยะทางให้บริการ 58.32 กม. และปลายปีนี้ จะเปิดเพิ่มถึงสถานีคูคต รวมระยะทาง 68.25 กม. มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 59 สถานี ส่วนอัตราค่าโดยสาร ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.)

2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 จำนวน 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร ขณะนี้งานโยธาเสร็จแล้ว 96 เปอร์เซ็นต์ งานระบบอาณัติสัญญาณดำเนินการแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ จะเปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่มีการพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่

3. โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงินโครงการ 31,680 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร รวม 30 สถานี 4.โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 31,680 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2564 ทั้ง 2 สาย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดย บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เป็นการร่วมกันของ 3 บริษัท บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ลงทุนประมาณกว่า 290,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการบินของประเทศไทย

และยังมีการประมูลก่อสร้างมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง อีก 2 สาย ได้แก่ 1.โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา มูลค่าโครงการกว่า 21,329 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าโครงการกว่า 17,809 ล้านบาท ระยะทาง 96 กม. ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบมจ.ราชกรุ๊ป ทั้งสองโครงการคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือนสิงหาคมนี้

ในส่วนของมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา อยู่ระหว่างติดตั้งด่าน ระบบการจัดเก็บค่าผ่านทาง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จะเริ่มให้บริการได้ ส่วนมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการหลังจากสาย บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา เปิดให้บริการแล้ว 1 ปี

อย่างไรก็ตามบริษัทพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนา การส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ซึ่งบริษัทได้ไปลงนามเอ็มโอยูไว้กับกรมการขนส่งทางรางที่พยายามจะใช้วัสดุในประเทศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้บริษัทจะเน้นการสร้างงาน ซึ่งเชื่อว่าโครงการของบีทีเอสจะทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในประเทศ เฉพาะช่วงก่อสร้างโครงการก็เป็นแสนล้านบาท ยังมีช่วงเดินระบบอีก ที่สำคัญพนักงานเกือบ 100% เป็นคนไทย ปัจจุบัน พนักงานของบีทีเอส เฉพาะในส่วนให้บริการรถไฟฟ้าก็มีประมาณเกือบ 3,000 คน ตรงนี้ก็ทำให้เกิดเม็ดเงิน สร้างงาน และจะโตไปเรื่อยๆ และบริษัทฯ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตของภาครัฐอย่างเต็มที่