นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน” ว่า ในปี 2020 บริษัทวางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มูลค่านับแสนล้านบาท ประกอบด้วย
1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดำเนินงานโดยบีทีเอสซี มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการประชาชนทั้งสิ้น 52 สถานี จากสถานีเคหะฯ จ.สมุทรปราการ-สถานีคูคต จ.ปทุมธานี และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีบางหว้า รวมระยะทางให้บริการ 58.32 กม. และปลายปีนี้ จะเปิดเพิ่มถึงสถานีคูคต รวมระยะทาง 68.25 กม. มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 59 สถานี ส่วนอัตราค่าโดยสาร ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.)
2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 จำนวน 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร ขณะนี้งานโยธาเสร็จแล้ว 96 เปอร์เซ็นต์ งานระบบอาณัติสัญญาณดำเนินการแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ จะเปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่มีการพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่
3. โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงินโครงการ 31,680 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร รวม 30 สถานี 4.โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 31,680 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2564 ทั้ง 2 สาย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดย บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เป็นการร่วมกันของ 3 บริษัท บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ลงทุนประมาณกว่า 290,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการบินของประเทศไทย
และยังมีการประมูลก่อสร้างมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง อีก 2 สาย ได้แก่ 1.โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา มูลค่าโครงการกว่า 21,329 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าโครงการกว่า 17,809 ล้านบาท ระยะทาง 96 กม. ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบมจ.ราชกรุ๊ป ทั้งสองโครงการคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือนสิงหาคมนี้
ในส่วนของมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา อยู่ระหว่างติดตั้งด่าน ระบบการจัดเก็บค่าผ่านทาง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จะเริ่มให้บริการได้ ส่วนมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการหลังจากสาย บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา เปิดให้บริการแล้ว 1 ปี
อย่างไรก็ตามบริษัทพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนา การส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ซึ่งบริษัทได้ไปลงนามเอ็มโอยูไว้กับกรมการขนส่งทางรางที่พยายามจะใช้วัสดุในประเทศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้บริษัทจะเน้นการสร้างงาน ซึ่งเชื่อว่าโครงการของบีทีเอสจะทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในประเทศ เฉพาะช่วงก่อสร้างโครงการก็เป็นแสนล้านบาท ยังมีช่วงเดินระบบอีก ที่สำคัญพนักงานเกือบ 100% เป็นคนไทย ปัจจุบัน พนักงานของบีทีเอส เฉพาะในส่วนให้บริการรถไฟฟ้าก็มีประมาณเกือบ 3,000 คน ตรงนี้ก็ทำให้เกิดเม็ดเงิน สร้างงาน และจะโตไปเรื่อยๆ และบริษัทฯ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตของภาครัฐอย่างเต็มที่