บริษัทจดทะเบียนไทย ครองแชมป์ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ สูงสุดในอาเซียน 8 ปีต่อเนื่อง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2564 นี้ มีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) 24 แห่ง ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BDMS, BJC, BTS, CPALL, CPF, CPN, DELTA, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU ในจำนวนนี้ บจ. ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าใหม่ในปีนี้คือ BDMS, BJC, DELTA และมี 12 บจ. อยู่ในดัชนีกลุ่ม DJSI World ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพทั้งในด้านขนาดและผลการประเมินความยั่งยืน ได้แก่ ADVANC, AOT, CPALL, CPN, DELTA, IVL, KBANK, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB และ SCC

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มี บจ. ได้รับคัดเลือกสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แสดงถึง บจ. ไทยมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม สร้างความเชื่อมั่นในสายตาผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยการประกาศรายชื่อสมาชิกในกลุ่ม DJSI ในครั้งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 โดยมีการทบทวนและประกาศรายชื่อสมาชิกในกลุ่ม DJSI ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมตลาดทุนไทยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และ บรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) เพื่อการเติบโตอย่างสมดุล สอดคล้องวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อทุกภาคส่วน “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ซึ่ง บจ. ไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมประเมินความยั่งยืนในระดับสากลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561

“การดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืนนอกจากส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นกลไกการบริหารความเสี่ยงช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจให้แข็งแกร่ง ซึ่งปัจจุบัน บจ. ไทยนำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาบริหารจัดการธุรกิจเพื่อนำองค์กรก้าวผ่านวิกฤตต่าง ๆ การที่ บจ. ไทยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจให้ความสำคัญทั้งการสร้างผลประกอบการที่ดีควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้าน ESG โดยให้ความสำคัญในการระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ที่รอบด้านมากขึ้นทั้งความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) และความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Risk) ในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทั่วโลกได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการประเมินความยั่งยืนของ DJSI ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทและเป็นไปตามกระแสความต้องการข้อมูลด้านความยั่งยืนเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน อีกทั้งกระแสการลงทุนอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเข้าสู่ดัชนี DJSI จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของตลาดทุนไทยและความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกองทุนรวมไทยมีความสนใจการลงทุนในหุ้นที่เติบโตยั่งยืน โดยในปีนี้มีกองทุน ESG Fund ถึง 60 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมกว่า 57,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% จากต้นปี 2564 นอกจากนี้รายงานจาก UN Principles for Responsible Investment: PRI ยังพบว่า 82% ของผู้ลงทุนสถาบันนำปัจจัยด้าน ESG เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกและติดตามหุ้นที่ลงทุนอีกด้วย” นายภากรกล่าว