ซีพีเอฟ ส่งเสริมเกษตรกรทำฟาร์มกุ้งมาตรฐาน ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ

นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัท เดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยในการปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐานให้เหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกรบนพื้นฐานของความยั่งยืน รักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการนำนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้ง 3 สะอาด ระบบหมุนเวียนน้ำ และระบบไบโอซีเคียวริตี้ มาเชื่อมโยงกันในฟาร์มกุ้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยง ลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคของกุ้ง ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคและสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในระยะยาว

ไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ

ระบบการเลี้ยงกุ้งแบบผสมผสานดังกล่าว ให้ความสำคัญกับการดูแลห่วงโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งขาวแวนนาไม เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการใช้วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์น้ำที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย การพัฒนาลูกพันธุ์กุ้งที่โตไว แข็งแรง ทนต่อโรค สะอาด ปลอดจากเชื้อโรค และวิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการตามมาตรฐานสากล ไร้สารตกค้าง ลดความเสี่ยงจากวิกฤติของโรคระบาด ตลอดจนการจ้างแรงงานถูกกฎหมาย เพื่อทำให้การเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต

นายไพโรจน์ กล่าวว่า หลักการเลี้ยงกุ้ง 3 สะอาด ประกอบด้วย การใช้ลูกพันธุ์กุ้งที่สะอาด ปลอดโรค น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งสะอาด น้ำที่ไม่มีเชื้อก่อโรค มีตะกอนน้อยและมีการบำบัดเพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ก่อนนำมาใช้ รวมทั้งการจัดการบ่อเลี้ยงให้สะอาด มีระบบการจัดการพื้นบ่อไม่ให้มีแหล่งสะสมเชื้อก่อโรค

นอกจากนี้ บริษัทฯ ส่งเสริมระบบหมุนเวียนน้ำ หรือการรีไซเคิลน้ำมาใช้ในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ลดการพึ่งพาน้ำจากภายนอก ช่วยลดโอกาสความเสี่ยงของโรคที่มาจากแหล่งน้ำ รวมทั้งเป็นระบบที่ไม่ปล่อยของเสียหรือน้ำจากการเลี้ยงออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ช่วยลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคใหม่ ๆ จากแหล่งน้ำภายนอก ช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ลดการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยสร้างความสำเร็จให้กับเกษตรกร และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม

ซีพีเอฟ ได้ส่งทีมนักวิชาการเข้าไปถ่ายทอดและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อนำหลักการ “3 สะอาด” ไบโอซีเคียวริตี้และการใช้ระบบการหมุนเวียนน้ำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างฟาร์ม ปรับระบบการเลี้ยง ระบบการจัดการของเสียให้เหมาะสมกับพื้นที่และศักยภาพของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีกำไรจากทุกรอบการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัว เกิดวิถีชีวิตใหม่ (new normal) อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารปลอดภัยที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลยังคงเป็นวิถีที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคทั้งในประเทศและประชากรโลก และรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน