คนว่างงานเฮ กระทรวงทรัพยากรฯ จ้างงาน 16,488 อัตรา ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากพิษโควิด-19

กระทรวงทรัพยากรฯ ทุ่มงบประมาณกว่า 445 ล้าน จ้างงาน 16,488 อัตรา ช่วยคนตกงาน – ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ทำงานกับกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้ค่าตอบแทนเดือนละ 9 พันบาท จ้างงาน 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา  รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าว “โครงการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ” ว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อให้การช่วยเหลือบัณฑิตที่ตกงานรวมทั้งประชาชน  โดยมีหน่วยงานที่จะจ้างงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้  และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)  จำนวน 5 โครงการ รวมอัตราการจ้างทั้งสิ้น 16,488 อัตรา อัตราการจ้างเหมา  9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้าง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2563 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน  445,176,000 บาท

นายวราวุธ เปิดเผยว่า สำหรับการจ้างงาน ทั้ง 4 หน่วยงาน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดทำโครงการ 1 คน 1 ตำบล ร่วมใจฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับจำนวน 7,255 อัตรา กรมป่าไม้ รับ จำนวน 5,058 อัตรา  ไปทำหน้าที่ลูกจ้างผู้ช่วยงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการปฎิบัติงานตามนโยบาย คทช. ในการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และ โครงการจ้างงานประชาชนเพื่อฟื้นฟูป่าหลังถูกไฟไหม้ “สร้างป่า สร้างงาน สร้างรายได้”  ขณะที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ  รับ 3,500 อัตรา ไปเป็นลูกจ้างเหมาบริการผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหารของสัตว์ป่า และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับ 675 อัตรา  ไปทำโครงการจ้างสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ในเขตป่าชายเลน

“โครงการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 และที่สำคัญเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่ารวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อยู่อาศัยของตน โดยทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือภาครัฐในการสำรวจข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่ชุมชน เพื่อก่อให้เกิดศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน ฉุกเฉินของรัฐบาลและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”