นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ที่ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมชลประทาน เตือนทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะตั้งแต่ ปลาย มิ.ย.-กลาง ก.ค.นี้ จะมีปริมาณฝนตกน้อย เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือสถานการณ์แล้งในหน้าฝน
ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิ.ย.ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วประมาณ 4.43 ล้านไร่ หรือ 26% ของแผนการปลูกข้าวทั้งหมดที่วางไว้ 16.79 ล้านไร่ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.87 ล้านไร่ , ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาแล้ว 1.88 ล้านไร่ คิดเป็น 23% ของแผนการปลูกข้าวที่วางไว้ 8.10 ล้านไร่ หรือน้อยกว่าปีก่อน 6.89 ล้านไร่ ภาคเหนือ ทำนาแล้ว 3.11 แสนไร่ หรือ 13.13% ของแผนการเพาะปลูกข้าว 2.37 ล้านไร่ ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนาได้ 1.757 ล้านไร่ หรือ 50.46% จากแผนเพาะปลูกข้าว 3.48 ล้านไร่ ,ภาคกลางทำนาแล้วประมาณ 1,000 ไร่ หรือประมาณ 8.28% ของแผนเพาะปลูกข้าว 10,000 ไร่ , ภาคตะวันออก ทำนาแล้วประมาณ 4.59 แสนไร่ หรือประมาณ 49.75% ของแผนเพาะปลูกข้าว 9.2 แสนไร่ , ภาคตะวันตก ทำนาแล้วประมาณ 1,000 ไร่ หรือประมาณ 0.11% ของแผนเพาะปลูกข้าว 1.26 ล้านไร่ และภาคใต้ ทำนาแล้วประมาณ 1.6 หมื่นไร่ หรือประมาณ 2.57% ของแผนเพาะปลูกข้าว 6.4 แสนไร่
สำหรับกรณีที่เกษตรกรยังไม่ได้ทำนาปี ขอความร่วมมือให้เริ่มทำนาปีช่วงหลังกลางเดือน ก.ค.เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีฝนตกชุก และมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่ จึงค่อยทำการเพาะปลูก เพราะกรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ในภาวะที่เขื่อนต่าง ๆ มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เน้นส่งน้ำเพื่อการ อุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ด้านการเกษตรจะใช้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำ และลำน้ำสาขาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าอย่างไม่ขาดแคลน
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อน ปี 2563 มีปริมาตร 30,765 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% ของความจุอ่างฯ และมีปริมาตรน้ำที่ใช้การได้เพียง 7,484 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาตรน้ำน้อยกว่าปีก่อน 5,563 ล้าน ลบ.ม.ที่มีปริมาตรน้ำในเขื่อน 36,328 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51% ของความจุอ่างฯ มีปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ 12,786 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27% ของความจุอ่างฯ
“การทำนาในปีนี้ทำได้น้อยกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก เพราะปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย และกรมชลประทานเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วนการทำการเกษตรสนับสนุนให้ใช้น้ำฝน ขณะนี้ฝนเริ่มทิ้งช่วง จึงขอความร่วมมือจากชาวนาและเกษตรกร ให้ชะลอทำการเกษตรจนกว่าจะมีฝนใหม่ลงมา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพืชเกษตร ขณะที่ปริมาณข้าวที่ปลูกได้ทั่วประเทศน้อยกว่าแผนมาก และหวังว่าหลังฝนทิ้งช่วง ชาวนาจะสามารถทำนาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 16.79 ล้านไร่”
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า จากการติดตามสภาพฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำพบว่าปริมาณฝนที่ตกในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้อยตามไปด้วย ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-23 มิ.ย.2563) 4 เขื่อนหลัก มีน้ำไหล ลงอ่างฯ รวมกันเพียง 119.94 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยน้ำไหลลงอ่างฯ รวมกันควรจะอยู่ที่ประมาณ 197 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น เขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลลงอ่างฯ 5.44 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 222 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2% ของน้ำใช้การได้ เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลลงอ่างฯ 101.19 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 508 ล้าน ลบ.ม. หรือ 8% ของน้ำใช้การได้ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำไหลลงอ่างฯ 8.96 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 150 ล้าน ลบ.ม. หรือ 17% ของน้ำใช้การได้ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำไหลลงอ่างฯ 4.35 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 106 ล้าน ลบ.ม. หรือ 11% ของน้ำใช้การได้ นับได้ว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก