กรมชลฯ เดินหน้าเก็บน้ำก่อนฝนหมด เน้นใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กรมชลประทาน เน้นบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ก่อนจะหมดฤดูฝน พร้อมช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนภาคใต้

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน ( 16 ส.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,531 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 14,602 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 37,537  ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,210 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,514 ล้าน ลบ.ม. ยังรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 16,661 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยายังอยู่ในเกณฑ์น้อย ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 13.69 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า วันที่ 17 -21 ส.ค. 64 นี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้บริหารจัดการน้ำท่าด้วยความประหยัด ประณีต และให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำก่อนจะสิ้นฤดูฝนในอีก 2 เดือนให้ได้มากที่สุด เนื่องจากในปีนี้เกษตรกรได้เริ่มเพาะปลูกโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักมาตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่เนื่องจากปัจจุบันปริมาณฝนเริ่มลดลง จึงขอให้ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้ชะลอการทำนาต่อเนื่องออกไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย สำหรับพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกแต่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว กรมชลประทาน จะให้ความช่วยเหลือไปจนกว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน 

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ขอให้เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร1460สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา