กรมชลฯ สั่งเร่งกำจัดผักตบชวา 7 ล้านตัน ไม่ให้กระทบทางน้ำ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าได้เรียกประชุมสำนักงานชลประทานที่ 9-13 เพื่อวางแผนเร่งกำจัดวัชพืชและผักตบให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.)รวมถึงข้อห่วงใยของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ภายหลังที่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบปริมาณผักตบในคลองชลประทานมากถึง 7 ล้านตัน หลังหารือได้ให้ผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนการกำจัดวัชพืชในพื้นที่ให้ชัดเจน และให้เร่งดำเนินการตามแผนคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จก่อน มิ.ย. 2564

ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

“เมื่อเดือนธันวาคม 2563 สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาได้รายงานผลสำรวจเพิ่มเติมพบว่ามีปริมาณผักตบชวามากถึง 7 ล้านตัน ในพื้นที่ สชป.9-13 และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล จึงได้สั่งการให้มีการกำหนดผู้รับผิดชอบ ปริมาณที่ต้องจัดเก็บ และช่วงเวลาดำเนินการให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้รายงานผลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง“นายประพิศกล่าว

ด้านดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เนื่องจากผักตบชวาเป็นพืชที่เจริญเติบโตง่ายในคลองหรือทางน้ำต่างๆแม้หน่วยงานอื่นจะมีส่วนร่วมดูแล แต่สุดท้ายจะไหลมารวมที่ทางน้ำของกรมชลประทาน และกระจุกตัวที่ประตูระบายน้ำ ซึ่งกรณีนี้ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA เป็นผู้สำรวจปริมาณผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บได้หมดก่อนฤดูฝนอธิบดีกรมชลประทานได้กำชับให้ สชป.9-13 ไปจัดทำผังโครงการและปริมาณสะสมและดำเนินการเก็บผักตบใน 2 ขั้นตอนคือ 1. การเก็บใหญ่ด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ 2. การเก็บย่อยด้วยเครื่องจักรขนาดเล็ก และให้วางทุ่นยางดักผักตบ (Log Boom) ทั้งด้านหน้าและด้านหลังประตูระบายน้ำ ทั้งนี้ให้มีการวางแผนเก็บย่อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการสะสมของผักตบชวา และแต่ละจุดที่เป็นจุดเก็บให้ทำป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแจ้งการสะสมของผักตบชวา โดยให้ระบุว่าเป็นจุดที่กรมชลประทานรับผิดชอบ พร้อมเบอร์โทรผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานเพื่อให้สามารถเข้าจัดเก็บได้ทันที ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีปริมาณสะสมของผักตบชวามากที่สุดจำนวน 1 ล้านตัน รองลงมาได้แก่จังหวัดสุพรรณบุรีจำนวน 7 แสนตัน จังหวัดนครปฐมจำนวน 5.1 แสนตัน และจังหวัดฉะเชิงเทราจำนวน 3.6 แสนตัน เป็นต้น

สำหรับทางน้ำในประเทศมีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 522,456 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน 49,676 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 9.51 ของทางน้ำทั้งหมด ประกอบด้วยคลองส่งน้ำ 27,450 กิโลเมตร คลองระบายน้ำ 11,190 กิโลเมตร แม่น้ำและคลองธรรมชาติ 11,036 กิโลเมตร

สำหรับศักยภาพเครื่องจักรกลของกรมชลประทาน มีเครื่องจักรสำหรับงานกำจัดวัชพืช จำนวน 190 คันประกอบด้วย รถขุดตีนตะขาบ แบบแขนยาว จำนวน 107 คัน เรือขุดแบบปูตัก จำนวน 31 คัน เรือกำจัดวัชพืช จำนวน 52 คัน สามารถกำจัดวัชพืชได้ประมาณวันละ 55,645 ตันต่อวัน