กรมชลฯ รับมือพายุฤดูร้อนประเทศไทยตอนบน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน” มีผลกระทบถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่มาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในวันนี้ (1 พ.ค. 65) ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1 – 2 พฤษภาคม 2565 โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่

  • ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองบัววลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโยธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ได้กำชับโครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้สามารถดำเนินแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เน้นย้ำให้มีการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมโดยพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ในพื้นที่เสี่ยง สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งนี้หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือ ?สายด่วนกรมชลประทาน 1460