น.สพ. ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2564 ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านสัตว์ปีก มุ่งเน้นการบรรยายด้านวิชาการ โดยนักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ตอกย้ำความเชื่อมั่นด้านสัตว์ปีกของไทยที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการผลิต การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้ผลผลิตสัตว์ปีกที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดโรค ปลอดภัย ปลอดสาร สำหรับผู้บริโภคชาวไทยและตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
“ไทยเป็น 1 ใน 80 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก และในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่เป็นอันดับ 8 ของโลก มีการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 4 ของโลก การติดตามงานวิจัยที่หลายประเทศจัดทำและออกเผยแพร่อย่างใกล้ชิด ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นกุญแจสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งลดต้นทุน และได้ผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ปีกที่ปลอดโรค ปลอดภัย ปลอดสาร” น.สพ. ศักดิ์ชัย กล่าว
สำหรับปีนี้ นักวิชาการชั้นนำของไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในหลากหลายหัวข้อ โดยมุ่งเน้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 อาทิ การบรรยายหัวข้อ “อาหารและการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด” โดย ผศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการเสวนาหัวข้อ “ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกปลอดภัยมั่นใจต่อผู้บริโภคช่วงโควิด” ได้รับเกียรติจาก น.สพ.โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ร่วมเสวนา โดยมี รศ.ดร.ยุวเรศ เรืองพานิช ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นอกจากนี้ ยังเปิดเวทีให้นิสิต นักศึกษา ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยด้านสัตว์ปีกอีก 4 ผลงาน ที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ในการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็น และประสบการณ์ในด้านวิชาการผลิตสัตว์ปีก เผยแพร่ความรู้ แนวความคิด และวิทยาการใหม่ๆแก่สมาชิก พร้อมให้การสนับสนุนในการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และการดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านวิชาการการผลิตสัตว์ปีก ทั้งภายในและภายนอกประเทศ