ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน ฉบับที่ 2 (46/2564) ลงวันที่ 19 มีนาคม 2564 เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21 – 22 มีนาคม 2564)” เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ส่งผลให้ประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ นั้น
กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยให้บุคลากรประจำอยู่ในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที พร้อมกับให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าตามสถานการณ์ที่เป็นจริง ในแต่ละช่วงเวลา
ทั้งนี้ หากเกิดฝนตกลงมาในพื้นที่ด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ จะส่งผลดีในการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯต่างๆให้มากขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำท่าในสายหลักต่างๆเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมด้วย นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน ให้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่งทราบอย่างทั่วถึง รวมไปถึงการจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ในพื้นที่ต่างๆ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา