#เกรียนพารวย
สาเหตุประการหนึ่งที่ปัญหาธนบัตรปลอมยังไม่หมดไป เป็นเพราะประชาชนแยกไม่ออกระหว่างธนบัตรจริงกับปลอมว่าต่างกันยังไง จึงทำให้เหล่ามิจฉาชีพยังมีการผลิตธนบัตรปลอมออกสู่ตลาด
ถ้าไม่อยากถูกหลอก ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรู้จักสังเกต และทราบถึงข้อแตกต่างระหว่างแบงก์จริงกับปลอม เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ยิ่งตอนเรารับแบงก์ชนิดที่ราคาสูงๆ อย่างแบงก์ห้าร้อย หรือแบงก์พัน ก็ยิ่งจำเป็นต้องเพิ่มการสังเกตมากขึ้น
ถ้ามีคนมาใช้แบงก์ปลอมกับเรา ก็ต้องพยายามจดจำรูปพรรณสัณฐานของคนใช้ สอบถามว่าได้มาจากใคร ที่ไหน เมื่อไร เพื่อช่วยเป็นเบาะแสในการทำงานของตำรวจอีกทาง พบอะไรไม่ชอบมาพากล แจ้งตำรวจ หรือแบงก์ชาติได้เลย
แต่หากเราพลาดรับแบงก์ปลอมมาแล้ว อย่านำไปใช้ต่อ เพราะนั่นเป็นความผิดทางกฏหมาย ที่เราทำก็จะไม่ต่างกับมิจฉาชีพ อย่าคิดโยนความโชคร้ายไปให้คนอื่นรับเคราะห์ต่อ เพราะกรรมใครกรรมมัน ทำแทนกันไมได้
แบงก์ชาติออกมาให้ความรู้ถึงวิธีสังเกตแบงก์ที่ผลิตออกมาใช้ใหม่แล้วว่า แบงก์จริงต้องมีลักษณะอย่างไร เพื่อให้ประชาชนจะได้ป้องกันตัวเอง โดยตรงภาพตราประจำพระองค์ฯ และคำว่า”รัฐบาลไทย” ทั้งตัวอักษรและตัวเลขราคา เวลาเราเอาปลายนิ้วไปสัมผัสหรือลูบดูจะรู้สึกสะดุด
รูปครุฑจะพิมพ์ตำแหน่งเดียวกันทั้งด้านหน้าด้านหลัง เวลายกขึ้นส่องแสงสว่างดู ตำแหน่งรูปครุฑจะทับซ้อนกันสนิทพอดี
จะมีตัวเลขแฝงซ่อนไว้ในลายประดิษฐ์ เวลาเราเอียงแบงก์เข้าหาแสงส่องดู ก็จะเห็นตัวเลขราคาของแบงก์นั้น
ตรงพระสาทิสลักษณ์และตัวเลขบอกราคา จะโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นชัดเจนทั้งสองด้านเวลายกส่องกับแสงสว่าง
ส่วนของลายดอกประดิษฐ์ พิมพ์ด้วยแม่เหล็กสามมิติ เปลี่ยนสีได้ โดยเมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมอง จะเกิดลวดลายสามมิติเคลื่อนไหว และเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว
และถ้าเราเอาแบงก์จริงไปส่องกับไฟแบล็คไลท์ จะสังเกตได้ว่า ตรงลายประดิษฐ์บริเวณกลางแบงก์ ตัวเลขราคากับหมวดเลขจะเรืองแสง เห็นเส้นใยเรืองแสง สีเหลือง แดง น้ำเงิน ในเนื้อกระดาษ
ข้อมูลพวกนี้ แนะนำให้ไปหาโหลดแอปฯ Thai Banknotes มาลงไว้ในเครื่อง เพื่อช่วยให้ไม่ตกเป็นเหยื่อรับแบงก์ปลอมมาให้เจ็บกระดองใจ
ขอบคุณ ธนาคารแห่งประเทศไทย