นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานมหกรรมทางการเงิน (Money Expo) ครั้งที่ 20 ว่า ปัจจุบัน พบว่าคนไทย 1 ใน 3 มีภาระหนี้สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งแนวโน้มการเป็นหนี้ของคนไทย เป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้นาน
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยนั้น ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป จากไตรมาส 2/63 ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 13.58 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 ที่อยู่ที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 13.49 ล้านล้านบาท
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สุขภาพทางการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการถูกลดชั่วโมงทำงาน และการถูกเลิกจ้าง ส่งผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/63 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม า ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงิน ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งลูกหนี้บางกลุ่มมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลง หรือ ถูกเลิกจ้าง จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
ต่อจากนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน จะไม่ใช่การปูพรมช่วยเหลือทั่วไป เพราะไม่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูกหนี้ และไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหา เพราะการพักหนี้นั้นเป็นการพักเงินต้น แต่ในด้านอัตราดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไป จะเน้นเป็นกลุ่มๆ ตามความจำเป็น
ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3/65 โดยธปท.อยู่ระหว่างเตรียมมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม และความจำเป็น
ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ไปได้ ซึ่งพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน
สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาระยะสั้นที่ต้องการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว มาตรการที่เหมาะสมกับลูกหนี้กลุ่มนี้ มีการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และการลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน
ส่วนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบระยะยาว ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) รวมถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
อย่างไรก็ตามการการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อเป็นรากฐานทางการเงินที่มั่นคง