เอไอเอส สานต่อภารกิจ “ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย” จับมือพันธมิตร ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เปิดแคมเปญใหญ่ต้อนรับวันสิ่งแวดล้อมโลก “คนไทยไร้ E-Waste” ขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศรวมกว่า 1,806 จุด พร้อมรณรงค์เชิญชวนประชาชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และนำไปทิ้งอย่างถูกวิธี สร้าง New Norm ต้อนรับชีวิตวิถีใหม่ ออกนอกบ้านครั้งใด พก E-Waste ติดตัวไปทิ้งด้วยทุกครั้ง
โดยร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรชั้นนำ อาทิ ศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล, ไปรษณีย์ไทย, SMART Service ผู้ให้บริการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร, ภาคีเครือข่ายความเพื่อยั่งยืนแห่งประเทศไทย TRBN โดยความร่วมมือของกลุ่มบริษัทจดทะเบียน ภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, กลุ่มบริษัทย่านถนนพหลโยธิน และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 40 องค์กรทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนแคมเปญใหม่ “คนไทยไร้ E-Waste” สร้างการตระหนักรู้เรื่อง ภัยอันตรายที่แฝงมากับขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมขยายจุดรับทิ้งขยะทั่วประเทศ อำนวยความสะดวกให้คนไทยสามารถทิ้งขยะ E-Waste ได้ง่าย ใกล้บ้านคุณ
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อคนไทย เราให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจแบบเติบโตไปพร้อมกันทุกภาคส่วน โดยได้กำหนดทิศทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุมในมิติเศรษฐกิจ สังคมและ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านของสิ่งแวดล้อม ที่เรามุ่งมั่น ใส่ใจมาโดยตลอด
ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ริเริ่มโครงการ “ทิ้ง E-Waste กับเอไอเอส” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างการตระหนักรู้ และเป็นแกนกลางที่จะเป็นจุดรับและนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนทั่วไปอย่างดียิ่ง มีปริมาณขยะ E-Waste เข้าสู่กระบวนการกำจัดรวมทั้งสิ้นกว่า 49,952 ชิ้น ในระยะเวลาเพียง 7 เดือน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 499,520 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ หรือเทียบเท่าต้นไม้ขนาดใหญ่ จำนวน 55,502 ต้น ดูดซับ CO2 เป็นเวลา 1 ปี
และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการทางด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้มือถือในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 11.14% เนื่องจากประชาชนจำเป็นจะต้องใช้สำหรับการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การใช้บริการทางด้านสาธารณสุข (Telemedicine) และการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ (Learn From Home) แต่ทว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะนำมาซึ่งผลเสียต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต หากคนไทยขาดซึ่งความตระหนักรู้ ไม่คัดแยก และทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี
รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นประเด็นระดับนานาชาติ เนื่องจากผู้คนทั่วทั้งโลกใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิตร่วมกัน ทั้งทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ และอากาศ ดังนั้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้ รวมถึงการรณรงค์เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต (Biodiversity) ของท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ องค์การสหประชาชาติจึงได้มีการจัดตั้งวันสิ่งแวดล้อมโลกขึ้น ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี โดยปีนี้มีคำขวัญว่า Time for Nature ช่วงเวลาที่ธรรมชาติทั่วโลกจะได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
บริษัทจึงถือโอกาสนี้ ประกาศเจตนารมย์ในการร่วมรักษา ฟื้นฟูธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมร่วมกับพันธมิตรทั้ง 40 องค์กร รวมพลังของพนักงานทุกองค์กรกว่า 100,000 คน เปิดตัวแคมเปญ “คนไทยไร้ E-Waste” สร้างเครือข่ายรณรงค์และบอกต่อการรับทิ้งขยะ พร้อมทั้งร่วมขยายความตระหนักรู้ไปสู่คนไทยในเซกเมนต์ต่างๆ อย่างแพร่หลาย ทั้งกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน, กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย, กลุ่มผู้พักอาศัยทั้งบ้านและคอนโด, กลุ่มโลจิสติกส์, กลุ่มช็อปเปอร์ เป็นต้น และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับคลายล็อกดาวน์เฟส 3 ที่ภาครัฐบาลผ่อนปรนให้หลากหลายธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ตามปกติ รองรับกับความต้องการเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์รุ่นเก่าของแต่ละครัวเรือน รวมถึงเป็นวิธีการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย