เปิดข้อมูลใหม่ ส่งออกปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงาม 17 ประเทศ 2.3 แสนตัว

ในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) วันที่ 18 กรกฏาคม 2567 ซึ่งได้มีการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา ผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้เปิดข้อมูลสำคัญจากข้อสงสัยเรื่อง “ปลาหมอคางดำส่งออกเป็นปลาสวยงาม” ว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีการส่งออกปลาหมอคางดำเมื่อปี 2556-2559 ไป 17 ประเทศ มีผู้ส่งออก 11 ราย มีปลาที่ส่งออกทั้งสิ้น 230,000 ตัว

กลายเป็นคำตอบของข้อสงสัยเกี่ยวกับต้นตอของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ นำมาซึ่งคำถามต่อมาว่า แล้วพ่อแม่พันธุ์ปลาที่นำมาเพาะพันธุ์เพื่อการส่งออกที่ว่านี้มาจากไหน ทั้งที่ไม่มีการขออนุญาตนำเข้า เพราะกรมประมงบอกว่ามีเพียงบริษัทเอกชนรายเดียวที่มีการขออนุญาตนำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย

เกิดคำถามตามมาว่า ขั้นตอนการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสัตว์น้ำของภาครัฐ มีความเข้มแข็งและเข้มงวดมากพอหรือไม่ เพราะมีตัวเลขส่งออก แต่ไม่มีตัวเลขนำเข้า ราวกับว่าพ่อแม่พันธุ์ปลาหมอคางดำ ที่เพาะเลี้ยงเพื่อส่งออกเป็นปลาสวยงาม อยู่ๆก็เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ถึงแม้กรมประมงจะชี้แจงว่าพันธุ์ปลาอาจมาจากธรรมชาติ ผู้เลี้ยงปลาเพื่อส่งออกเป็นปลาสวยงามนั้น เขารู้กันดีว่า ปลาสวยงามเป็นความต้องการลักษณะเฉพาะ เช่น สีสัน เส้นสายบนตัวปลา รวมถึงความแข็งแรง ต้องเลี้ยงให้ตรงตามความนิยมของตลาดซึ่งจะมีผลต่อราคา

วันนี้ “ปลาหมอสีคางดำ” ระบาดไปใน 16 จังหวัด หากจะถกเถียงและควานหาต้นตอและถกเถียงกันหาตัวคนผิดก็อาจสายไป ทั้งที่ภาครัฐควรจะรีบหาวิธีการให้ตรงกับโจทย์ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด ด้วยการหาวิธีจับปลาอย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีการจูงใจให้มาลงแขกจับปลากัน จับมาได้แล้วต้องรณรงค์ให้มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ให้ความรู้ว่าปลาชนิดนี้กินได้เหมือนปลาปกติ เพราะที่ผ่านมาเรียกขานกันว่า เอเลี่ยนสปีชี่ส์ ปลาปีศาจ หรือ ปลาวายร้าย ต่างๆ นานา สร้างภาพน่ากลัวจนไม่กล้ากิน ทั้งที่มีโปรตีนและคุณค่าทางอาหาร ปรุงง่ายได้หลายเมนู หรือ จะส่งเสริมทำผลิตภัณฑ์อาหารก็ทำได้ไม่ยาก

อธิบดีกรมประมง ก็ยอมรับก่อนหน้านี้ว่า ในประเทศไทย มีปัญหาการระบาดของสัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) หลายชนิด ซึ่งปลาหมอสีคางดำ อาจมีที่มาจาก 2 ทาง คือ การลักลอบนำเข้ามาในประเทศ และการขออนุญาตนำเข้าเมื่อปี 2553 เพื่อทดลองวิจัยแล้วอาจหลุดรอดสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ถือเป็นประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถาม เพราะเป็นข้อมูลที่ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการเพียงครั้งเดียว ซึ่งบริษัทเอกชนยืนยันว่า ปลาที่นำเข้ามาตายระหว่างขนส่งเหลือเพียงปลาที่อ่อนแอและทยอยตาย จึงตัดสินใจยุติการวิจัยและทำลายซากปลาตามมาตรฐาน พร้อมแจ้งกรมประมง และส่งตัวอย่างปลาดองฟอร์มาลีนทั้งหมดให้กรมประมงในปี 2554 แล้วนั้น กรมประมงชี้แจงว่า ไม่ได้รับตัวอย่างดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องนี้ต้องอาศัยเอกสาร พยาน และหลักฐานในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป

แต่ข้อมูลอีกด้านที่ทุกฝ่ายควรทราบ คือ ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin Tilapia) หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron เป็นปลาต่างถิ่นที่ถูกนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในกว่า 10 ประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น ยกตัวอย่าง ฟิลิปปินส์ ที่มีรายงานการพบปลาหมอสีคางดำในระบบนิเวศและฟาร์มปลาในเมืองบาตาอัน (Bataan) ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการเรียกขานปลาชนิดนี้กันว่า Gloria, Cichilds, Tilapia Arroyo อีกกรณีที่ กองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลสหรัฐอเมริกา พบว่าเคยมีการนำเข้าปลาหมอสีคางดำมาทดลองเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ปลาหลุดออกไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก ทำให้มีการประกาศห้ามนำเข้าจนถึงปัจจุบัน

และเมื่อกลับมาดูข้อมูลจากเว็บไซต์กรมประมง พบมีการรายงานว่า ไทยมีการส่งออกปลาหมอสีคางดำ เป็นปลาสวยงาม ต่อเนื่องถึง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2559 จำนวนมากกว่า 320,000 ตัว มูลค่าส่งออกรวม 1,510,050 บาท ก็กลายเป็นคำถามว่า การส่งออกปลาหมอสีคางดำมีชีวิต ไปยัง 15 ประเทศนั้น มีที่มาจากไหน และใครเป็นผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยง ที่สำคัญคือมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ รวมถึงกรมประมงได้มีการตรวจติดตามการเพาะเลี้ยงหรือไม่ แล้วทำไมกรมประมงไม่ตั้งคำถามเลยหรือว่า ในเมื่อไม่มีการขอนำเข้ามา แล้วปลาหมอสีคางดำ ที่เป็นปลาต่างถิ่นห้ามเพาะเลี้ยงในประเทศ จะมีการส่งออกได้อย่างไร ยิ่งหลังจากปี 2559 ที่พบว่าไม่มีตัวเลขส่งออกปลาหมอสีคางดำ แล้วพ่อแม่พันธุ์ และลูกหลานปลาที่ไม่ได้ส่งออกจัดการอย่างไร ในเวลานั้นไทยมีกฎระเบียบในการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้มีความเข้มงวดและเข้มแข็งเพียงใด ถือเป็นอีกสิ่งที่ต้องพิสูจน์

ต่อมา ในปี 2561 จึงได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง กำหนดห้ามนำเข้าปลา 3 ชนิด คือ 1. ปลาหมอสีคางดำ 2. ปลาหมอมายัน (Cichlasoma urophthalmus) และ 3. ปลาหมอบัตเตอร์ (Heterrotilapia buttikoferi) หากจำเป็นที่จะนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมงเท่านั้น

อาจมีข้อสงสัยว่า ปลาหมอสีคางดำ ถือเป็นปลาสวยงามด้วยหรือ? ซึ่งประเด็นนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ระบุว่า…”ปลาหมอคางดำ” ที่สีสวยๆ ก็มีนะครับ อย่าคิดแต่ว่าจะต้องดูสีตุ่นๆ คล้ายปลานิลเท่านั้น .. เจอแบบนี้ ก็ต้องกำจัดเหมือนกันครับ! ภาพนี้จากสมาชิกกลุ่ม Siamensis.org ถ่ายที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี คาดกันว่าเป็นปลาตัวผู้ ช่วงฤดูผสมพันธุ์ เลยมีสีสันสวยงาม ดึงดูดตัวเมีย ในประเทศอื่นๆ ที่มีปลาหมอคางดำระบาด เช่น ในอเมริกา (รัฐฟลอริด้า รัฐฮาวาย) และในฟิลิปปินส์ ก็คาดกันว่า มาจากคนที่ค้าปลาแปลกๆ สวยงาม แอบเอาเข้าประเทศมากันครับ เลยระบาด (ส่วนของไทย ยังเป็นคำถามกันอยู่ครับ)
< ที่มาจากโพสต์ ทำไมปลาหมอสีคางดำตัวนี้ถึงสีสวยคะ เห็นจากโพสต์ของคนทั่วไปหรือภาพจากข่าวจะเห็นเป็นโทนสีดำๆเหมือนปลานิล แต่ตัวนี้มองด้วยตาเปล่าก็เห็นเป็นสีแบบนี้เลย ถ่ายวันที่ 24มิถุนายน 2567 ที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี https://www.facebook.com/groups/122260101128398/permalink/8146077188746609/?app=fbl >

มาถึงตรงนี้กล่าวได้ว่า “ปลาหมอสีคางดำ” ที่ระบาดในประเทศไทย อาจมีที่มาจากการลักลอบนำเข้าจากผู้ผลิตหลายราย แต่กลับไม่มีรายงาน ซึ่งการพิสูจน์ข้อเท็จจริง จึงควรดำเนินการอย่างรอบด้าน แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การกำจัด ปลาหมอสีคางดำ ที่แพร่ระบาด ด้วยมาตรการต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยภาครัฐควรดำเนินการอย่างเป็นระบบ เริ่มจากระดมสมองผู้เชี่ยวชาญวางแนวทางที่สอดคล้องกัน ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดปริมาณปลาและผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำมาแล้ว และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

พร้อมกันนั้นก็ต้องวางมาตรการป้องกันที่เข้มงวดในอนาคต ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ก็คงไม่มีผู้ประกอบการกล้าขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำอย่างถูกต้องอีก เพราะว่าพอเกิดปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นระบาดก็ตกเป็นจำเลยสังคม โดยไม่มีใครสนใจประเด็นผู้ลักลอบนำเข้า หรือความบกพร่องในการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ วันนี้ทุกฝ่ายต้องถอดบทเรียนจากปัญหานี้ เพื่อพัฒนาระบบการควบคุมสัตว์ต่างถิ่นอย่างเป็นระบบ โดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ และต้องไม่เป็นการตัดโอกาสการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทยในอนาคตด้วย.