เครือซีพี ตอกย้ำแนวทางทำธุรกิจควบคู่การสร้างความยั่งยืน รวมพลัง 38 ภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ร่วมกับเครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ความร่วมมือ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก”
เครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) จัดพิธีลงนามเจตนารมณ์ร่วมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ความร่วมมือ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” โดยมีภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนรวม 38 แห่ง ร่วมลงนามผ่านระบบการประชุมออนไลน์ True Vroom เพื่อผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริง และบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิล ลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวงกว้างต่อไป โดยมี นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้แทนเครือฯ ร่วมลงนาม
นายจอมกิตติ เปิดเผยว่า เครือซีพี โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือฯ ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน โดยประกาศ 2 เป้าหมายที่ท้าทายคือ การทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Zero Carbon) และการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ภายในปี 2573 หรือ 10 ปีข้างหน้า โดยมีนโยบายประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดห่วงโซ่คุณค่า
นอกจากนี้ เครือซีพียังผลักดันการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มสัดส่วนการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ รวมถึงการจัดการและเพิ่มมูลค่าของเสียหรือน้ำเสียให้เปลี่ยนมาเป็นพลังงานในทุกกลุ่มธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบสถานประกอบการ เพื่อช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ด้วย ทั้งนี้ เครือซีพีกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมต่อหน่วยการผลิตและลดการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิตลง 25% และ 15% ตามลำดับ เทียบกับปีฐาน 2558 ภายในปี 2568
การลงนามความร่วมมือโครงการหมุนเวียนเปลี่ยนโลกครั้งนี้ เพื่อร่วมดำเนินโครงการบนพื้นที่แยกปทุมวัน-ราชประสงค์ เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2564 โดยมีเป้าหมายจะรวบรวมวัสดุใช้แล้วที่สะอาดและแห้งเข้าระบบการรีไซเคิลให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 ตัน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการนำไปใช้ใหม่ของแต่ละองค์กร