อาหารแปรรูปไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป สามารถรับประทานได้ปลอดภัย

0

นักวิชาการเทคโนโลยีทางอาหาร ชี้ การบริโภคอาหารแปรรูปไม่ได้ทำให้เกิดโรคและสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย แนะผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่ากินอาหารแปรรูปซ้ำๆ ให้กินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ควบคู่ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล

รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีผู้บริโภคที่มีความกังวลและสงสัยในการรับประทานอาหารแปรรูปว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ โดยอาหารแปรรูป คืออาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางอาหารที่ทำให้วัตถุดิบมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพจากของสดกลายเป็นของสุก ให้รับประทานได้ เช่น การทอด การต้ม การฆ่าเชื้อด้วยความร้อน การลดขนาด การนึ่ง หรือ การขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น

การแปรรูปอาหารมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำให้อาหารปลอดภัยรับประทานได้ ย่อยได้ง่าย เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์อาหาร สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น และที่สำคัญคือปลอดภัยในแง่ของการลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ส่งผลให้อาหารเสื่อมเสียและเกิดโรค เพราะการแปรรูปส่วนใหญ่มักใช้ความร้อนเป็นกลไกของการฆ่าเชื้อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการถนอมอาหาร ซึ่งกระบวนการแปรรูปอาหารสามารถออกแบบให้อาหารมีคุณค่าทางโภชนาการตามที่ผู้บริโภคต้องการได้

ปัจจุบันผู้ผลิตอาหารนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เสริมเติมแต่งสิ่งที่มีประโยชน์ เพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย และยังสามารถนำมารวมกันสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

นอกจากนี้การแปรรูปอาหาร ยังมีข้อดีหลายอย่าง ไม่เพียงแต่ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหารไว้ได้นานขึ้น ยังช่วยลดการสูญเสียอาหาร และลดอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Wastes) ทำให้อาหารมีเพียงพอกระจายสู่คนที่เข้าถึงแหล่งอาหารได้ยาก ไม่เป็นการเสียโอกาสสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงอาหาร สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับโลก

สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวลเรื่องการปนเปื้อนอาหาร ไม่แน่ใจว่าร้านค้าจะปรุงสุกดี มีความสะอาด หรือ มีสุขอนามัยที่ดีหรือไม่ อาหารแปรรูปเป็นทางเลือกหนึ่งที่เชื่อมั่นได้ว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตามต้องเลือกซื้อจากบริษัทผู้ผลิตและแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีการรับรองโดย อย. มีเลขสารระบบ อย. มีตรารับรองหรือองค์กรที่ควบคุมดูแลเรื่องของความปลอดภัยของผู้บริโภค

ทั้งนี้กระบวนการการผลิตอาหารภายในโรงงานมาตรฐาน มีการควบคุมมาตรฐานในแง่ของสุขลักษณะ ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์อาหาร มีกระบวนตรวจสอบทุกขั้นตอน รวมไปถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงวัตถุดิบได้ว่ามาจากแหล่งไหน มีการปนเปื้อนหรือไม่ เชื่อมั่นได้ถึงความปลอดภัย

ผู้บริโภคที่กังวลเรื่องปริมาณโซเดียม เกลือ ไขมัน น้ำตาล สามารถเลือกสูตรไขมันน้อย น้ำตาลน้อย โซเดียมต่ำ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถลดปริมาณ เกลือ ไขมันและน้ำตาล แต่ยังคงความอร่อย ผู้บริโภคสามารถอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารในการเลือกซื้อ

ทั้งนี้อาหารแปรรูปไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด แต่สามารถอยู่ได้นาน ด้วยกระบวนการแปรรูปที่มีมาตรฐานที่ดี ขั้นตอนการให้ความร้อนอยู่ในระดับที่ทำลายเชื้อที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องการควบคุม แนะนำอย่าซื้อในปริมาณเยอะ ให้ซื้อในปริมาณที่เพียงพอต่อการรับประทาน ไม่จำเป็นต้องกักตุน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตใหม่

รศ.ดร. ชาลีดา กล่าวย้ำว่า หลักในการบริโภคที่สำคัญต้องมีความสมดุล รับประทานอาหารให้มีความหลากหลาย อย่ารับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว หรือซ้ำๆ กัน โรคต่างๆ ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่ม Non Communicable Disease (NCD) ไม่ได้เกิดจากการบริโภคอาหารแปรรูป แต่เกิดจากการรับประทานอาหารนั้นซ้ำๆ กัน ไม่เปลี่ยนเป็นระยะเวลานาน การได้สารอาหารที่ไม่เพียงพอ การใช้ชีวิตเร่งรีบ และความเครียด ดังนั้นควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ผักผลไม้ ใยอาหาร แบ่งสัดส่วนของสารอาหารตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เช่น ผัก 2 ส่วน ข้าว 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน เป็นต้น และสำคัญมาก คือดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ควบคู่การออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ.