ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก นพ.ยง ภู่วรวรรณ ระบุถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีเนื้อหาว่า
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เราฉีดกัน การตอบสนองภูมิต้านทานจะเกิดขึ้นหลังฉีดครบแล้ว มากกว่า 99% แม้กระทั่งวัคซีน AstraZeneca เพียงเข็มเดียวภูมิต้านทานก็ขึ้นดีมาก การตรวจจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจได้ในปัจจุบันก็ไม่สามารถบอกได้ว่าระดับแค่ไหนเป็นระดับที่น้อยที่สุดในการป้องกันโรค ถึงเรารู้ระดับภูมิต้านทานเราก็จะยังไม่ทำอะไรอยู่ดี การกระตุ้นเข็มที่สามก็ยังไม่มีข้อยุติจนกว่าจะมีข้อมูลมากกว่านี้
ดังนั้น ผู้ที่ซื้อชุดตรวจแบบรวดเร็วก็ยิ่งไม่จำเป็นใหญ่เพราะการตรวจจะมีความไวไม่เพียงพอจะให้ผลลบจำนวนมาก เสียสตางค์โดยใช่เหตุ ในการตรวจวัดเชิงปริมาณ หน่วยที่ใช้ก็ยังไม่ได้ใช้หน่วยเดียวกันในแต่ละห้องปฏิบัติการ ขึ้นอยู่กับชนิดของการตรวจ การแปลผลจะสับสนกันมาก จึงไม่มีความจำเป็นในการตรวจ
เราจะเห็นหน่วยเป็น AU (Arbitrary Unit) หรือหน่วยตามอำเภอใจของบริษัทที่ตั้งขึ้นหรือหน่วยเป็น unit ยังไม่ได้ใช้หน่วยเดียวกันแบบไวรัส ตับอักเสบบี วัคซีน บางหน่วยเป็นไดลูชั่น เช่น 1:10, 1:20, 1:40,.. หรือบางหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ Inhibition ผู้แปลผลจะสับสนมาก
การตรวจขณะนี้อยู่ในงานวิจัยเท่านั้น ไม่ควรนำไปใช้ในเชิงบริการหรือโรงพยาบาลต่างๆที่ใช้วัดผลของวัคซีน โดยเฉพาะโรงพยาบาลบางแห่งนำวิธีการตรวจแบบเชิงคุณภาพ Qualitative แล้วอ่านผลหน่วยเป็น COI คือเปรียบเทียบกับ Cut Off Value ว่าเป็นกี่เท่า ทำให้ในการตรวจหลายแห่งโดยเฉพาะใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็วหรือชุดตรวจแบบเชิงคุณภาพไม่ใช่เชิงปริมาณจะให้ผลลบเป็นจำนวนมาก ทำให้ดูเหมือนว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันการวัดเชิงปริมาณในการแปลผลก็ยังไม่มีข้อยุติว่าระดับใดคือระดับที่ป้องกันโรค
ดังนั้น การตรวจหลังฉีดวัคซีนจึงไม่แนะนำให้ทำ ขณะนี้อยู่ในการทำเพื่อการวิจัยเท่านั้น