สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ อำเภอดอนตูม, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน, เครือข่ายสิงห์อาสา 10 สถาบันการศึกษาภาคกลาง พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนคลองบ้านภูมิ ต.สามง่าม อ.ดอนตูมจ.นครปฐม จัดโครงการ “กำจัด-บด-แปรรูป ผักตบชวา” ร่วมกันกำจัดผักตบชวาเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน พร้อมนำผักตบชวาที่ได้มาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งคลองดังกล่าวเป็นคลองที่สำคัญก่อนไหลออกสู่แม่น้ำท่าจีน และเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง โดยผักตบชวาที่ได้ในครั้งนี้ สิงห์อาสา ได้ร่วมกับ คณะเกษตรกำแพงแสน และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นำชีวภัณฑ์จากรามาพ่นเพื่อควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของผักตบชวา, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สอนวิธีการแปรรูปผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในการเกษตรให้แก่ชาวบ้าน และร่วมกับ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี สร้างเครื่องตัดย่อยผักตบชวาเพื่อแปรรูปผักตบชวาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
นายรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา สิงห์อาสา พร้อมด้วยเครือข่ายต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาผักตบชวาและขยะซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กีดขวางทางน้ำ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการขยายพันธุ์เร็วเกินไปขวางทางไหลของน้ำ อีกทั้งยังทำลายระบบนิเวศและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรครวมไปถึงสัตว์มีพิษ และโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง เมื่อเข้าฤดูฝน
จะมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง หากการระบายน้ำเป็นไปได้ดีก็จะลดปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้ โดยในครั้งนี้ได้ร่วมมือกับเครือข่ายสิงห์อาสาและชาวบ้านในพื้นที่ ช่วยกันเก็บผักตบชวา ซึ่งผักตบชวาที่เก็บได้จะนำไปแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ร่วมมือกับเครือข่ายสิงห์อาสา 3 มหาวิทยาลัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญนำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยทำให้กิจกรรมมีประสิทธิภาพและชาวบ้านในพื้นที่ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นด้วย”
ผศ.ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า “โครงการ กำจัด-บด-แปรรูป ผักตบชวา เป็นโครงการที่ทางคณะฯ ได้ร่วมกับสิงห์อาสา เพื่อนำนวัตกรรมชีวภัณฑ์มาควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของผักตบชวาที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วม ซึ่งชีวพันธุ์ ก็คือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติโดยทำจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเลย ไม่ว่าจะเป็นมาจากพืชจากสัตว์หรือแม้กระทั่งมาจากจุลินทรีย์ ซึ่งสิ่งที่เราใช้ก็คือ ชีวพันธุ์จากราโดยเชื้อราตัวนี้เป็นสาเหตุของโรคใบไม้ไหม้บนผักตบชวา ซึ่งชีวภัณฑ์ของเรามีคุณภาพและปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้รับรางวัลการันตีจากหลายประเทศ เช่น รางวัลเหรียญเงิน
สาขานวัตกรรม งาน Invention Geneva ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประโยชน์ของการพ่นชีวภัณฑ์นี้นอกจากจะช่วยควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของผักตบชวาแล้ว ยังช่วยลดงบประมาณและแรงงานในการกำจัดผักตบชวาได้ โดยใช้วิธีการคือ นำโดรนขึ้นพ่นผักตบชวาในแหล่งน้ำ รอประมาณ 3 สัปดาห์ ผักตบชวาจะเหี่ยวและค่อยๆ สลายลงในที่สุดโดยไม่ทำให้น้ำเน่าเสีย ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยกำจัดผักตบชวาที่กีดขวางทางน้ำได้”
นางสาวสิริวรรณ สมิทธิอาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า “ทางคณะฯ ได้นำองค์ความรู้ในการแปรรูปผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์มาถ่ายทอดให้กับชาวบ้านในพื้นที่ การได้ลงพื้นที่ร่วมทำปุ๋ยกับชาวบ้านในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นถึงความตั้งใจของชาวบ้านที่พร้อมที่จะช่วยกันดูแลชุมชนของตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วม โดยผักตบชวาที่เก็บมาจะถูกนำมาแปรรูปให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ใช้เวลาไม่นาน ชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดผลิตปุ๋ยเองได้ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเอาความรู้ไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านและนำนักศึกษาของเรามาถ่ายทอดตรงนี้เป็นการฝึกทักษะให้กับนักศึกษา ให้นักศึกษาได้เอาความรู้ของตัวเองที่มีมาทำให้เกิดประโยชน์ทำได้จริง”
นายจีรัฐติกุล กล้าหาญ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี กล่าวว่า “ปีนี้ถือเป็นปีที่สองที่ได้ร่วมมือกับสิงห์อาสาในโครงการ กำจัด-บด-แปรรูป ผักตบชวา โดยทางคณะฯ ได้นำองค์ความรู้ในสาขาวิชามาใช้ให้เกิดประโยชน์และให้นักศึกษาร่วมออกแบบและสร้างเครื่องตัดย่อยผักตบชวาที่จะสามารถช่วยตัดย่อยผักตบชวาได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น จากประสบการณ์ ปีที่แล้วที่ได้มาทดลองเครื่องในงานสิงห์อาสาได้พบว่าผักตบชวามีลักษณะหนาและเหนียว จึงได้ไปพัฒนาเครื่องตัดย่อยให้มีใบมีดที่เหมาะสมสามารถตัดเฉือนผักตบชวาได้หลายรูปแบบมากขึ้น ทำให้ได้ผักตบชวาขนาดเล็กลงสามารถไปแปรรูปได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยแบ่งเบาด้านการใช้แรงงานก่อนนำผักตบชวามาแปรรูปอีกด้วย ถือเป็นต้นแบบเครื่องตัดย่อยผักตบชวาที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับชุมชนต่างๆที่ประสบปัญหาผักตบชวากีดขวางทางน้ำได้เป็นอย่างดี”
โดยเครือข่ายสิงห์อาสา 10 สถาบันการศึกษาภาคกลาง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน , มหาวิทยาลัยมหิดล , มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ , มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา , มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่ศาลายา,วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม, วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม และวิทยาลัยการอาชีพบางแก้วฟ้า จ.นครปฐม
โครงการ “กำจัด-บด-แปรรูป ผักตบชวา” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลัก “สิงห์อาสาสู้น้ำท่วม” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวากีดขวางทางเดินน้ำซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างผลกระทบให้เกิดปัญหาน้ำท่วม โดยตลอด 6 ปีที่ผ่านมาสิงห์อาสา และเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคกลาง ทั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษา ร่วมกันผนึกกำลังดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง เช่น นครปฐม, อยุธยา, สิงห์บุรี และปทุมธานี ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี