แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณชะลอตัวลงแต่อาจใช้ระยะเวลานานกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมาย ทำให้ผู้ลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องคงนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องไปอีกสักระยะ อีกทั้งตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีโอกาสไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย (No Landing) อย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อน ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาค
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิจากที่เคยซื้อสุทธิต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากค่าเงิน US Dollar ที่ปรับตัวแข็งค่าตามการคาดการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐจะยังคงเพิ่มขึ้น อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ค่อนข้างมาก จากภาคการส่งออกและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาครัฐที่ลดลง แม้การบริโภคภายในประเทศยังฟื้นตัวตามภาคบริการและท่องเที่ยว
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย
• ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 SET Index ปิดที่ 1,622.35 จุด ปรับลดลง 2.9% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และปรับลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า
• ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มบริการ
• ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 67,066 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 32.3% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในสองเดือนแรกปี 2566 อยูที่ 69,600 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนแรกด้วยมูลค่า 43,562 ล้านบาท หลังจากเป็นผู้ซื้อสุทธิสี่เดือนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10
• ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 5 หลักทรัพย์ และใน mai 2 หลักทรัพย์ โดยมูลค่าระดมทุนรวมในหุ้น IPO ของไทยปี 2566 อยู่ยังในระดับต้นๆ ของเอเชีย
• Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.9 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.4 เท่า
• อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 2.82% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.09%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
• ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 543,831 สัญญา เพิ่มขึ้น 2.5% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures และในช่วง 2 เดือนของปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 536,966 สัญญา ลดลง 5.1% จากปีก่อน