รู้เก็บรู้ออม : ESG ยั่งยืนยง!!

เดี๋ยวนี้ เรื่องของ ESG เป็นที่รับรู้และยอมรับของนักลงทุนในวงกว้าง การตัดสินใจเลือกลงทุนหุ้นตัวไหน ก็จะพิจารณาดูว่ากิจการนั้นมีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG คือมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลมากน้อยเพียงใด เพราะการลงทุนในหุ้นยั่งยืนเดี๋ยวนี้ไม่ได้แปลว่ากิจการนั้นจะได้รับแค่คำชื่นชมจากการมีความรับผิดชอบเพียงอย่างเดียว แต่ยังแสดงถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับมาอีกด้วย

ที่ผ่านมา “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” มีบทบาทสำคัญด้านการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของกิจการ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ถือเป็นงานสำคัญที่จะสร้างความแข็งแรงให้กับตลาดทุนในระยะยาว

ข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของรายงานด้านความยั่งยืน เมื่อเร็วๆนี้ มีการเปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจจากฐานข้อมูลของ SET ESG data platform ระบบจัดการข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯพัฒนาขึ้นเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลด้าน ESG พบว่าในปี 2023 มี บจ.ที่รายงานปริมาณการปล่อย GHG จำนวน 445 บริษัท (เท่ากับครึ่งหนึ่งของ บจ.ทั้งหมดใน SET และ mai ที่มีอยู่รวม 835 บริษัท) โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 30%

ส่วนปริมาณการปล่อย GHG ในปีล่าสุด มีตัวเลขลดลง 6.1% จากปีก่อน คิดเป็น 634 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อย GHG สูง ได้แก่ กลุ่มพลังงาน, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มบริการ และยังพบว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

เป็นเรื่องน่ายินดีที่จำนวน บจ.ที่รายงานปริมาณการปล่อย GHG เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตัวเลขปริมาณการปล่อย GHG ก็ต่ำลง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีจำนวน บจ.เปิดเผยข้อมูลนี้เพิ่มมากขึ้นนั้น มาจากมาตรการสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวระบบจัดการข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ เองที่อำนวยความสะดวกให้กับ บจ.ในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ต่างๆ, มาตรการจูงใจอื่นๆ เช่น การลดค่าธรรมเนียม, การมอบรางวัลให้บริษัทที่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ตลอดจนการให้ความรู้ และความร่วมมือกับองค์กรรัฐ/เอกชนที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ทำให้มี บจ.ที่ไม่ได้อยู่ใน SET ESG มีแรงจูงใจในการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG มากขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 43% เท่ากับจำนวน 339 บริษัท และล่าสุดกับการปรับเงื่อนไขของ TESG โดยเพิ่มเพดานลดหย่อนภาษีเป็น 3 แสนบาท กับลดระยะเวลาถือครองเป็น 5 ปี น่าจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้กับ บจ.มากขึ้นอีก

จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ในการสร้างความโปร่งใส, ตระหนักรู้ และการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG ให้มากขึ้น ซึ่งอนาคตสามารถต่อยอดไปถึงธุรกิจใหม่ๆ เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการการปล่อยมลพิษให้สอดคล้องกับแผนการลดภาวะโลกร้อนได้ดียิ่งขึ้น!

คุณนายพารวย