ยลเสน่ห์วัดบวรนิเวศฯ ชมงานศิลป์งดงามดั่งบวรวิมานแห่งรัตนโกสินทร์

วัดบวรนิเวศวรวิหาร เป็นวัดที่มีความสวยงามอันดับต้นๆ ของไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ย่านบางลำภู ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญและขึ้นชื่อในเรื่องความงดงามทางสถาปัตยกรรมและความสำคัญทางประวัติศาสตร์  ชื่อวัดนี้มีความหมายเป็นนัยว่า เป็นที่พำนักที่อยู่ของวังหน้า โดยคำว่า บวร นั้นมีความหมายคือ วังหน้า และ นิเวศ คือ ที่พำนัก

วัดบวรนิเวศ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงนิมนต์ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ มาเป็นเจ้าอาวาสคนแรกของวัดบวรนิเวศฯ กล่าวได้ว่า เป็นวัดสำคัญของกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีสำคัญ อย่างเช่น เหตุการณ์สำคัญครั้งล่าสุด พระราชพิธีบรมราชภิเษก รัชกาลที่ 10 ที่ขบวนพระราชอิสริยยศเคลื่อนขบวนไปพระอารามหลวง 3 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธฯ และวัดพระเชตุพนฯ

นอกจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว วัดแห่งนี้ยังมีความโดดเด่นด้านความสวยงามทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ที่ผสมผสานกันทั้งสไตล์ไทย จีน และตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นตัวพระอุโบสถ ลวดลายฝาผนังที่เป็นรูปปริศนาธรรม พระวิหาร พระมหาเจดีย์ พระตำหนัก หอระฆัง หอไตร ตลอดจนกุฏิพระ ล้วนมีความงดงามทั้งสิ้น

“บิ๊กเกรียน” มีโอกาสเที่ยวชมวัดบวรนิเวศในครั้งนี้กับเพจ “รัตนโกสิเนหา” ซึ่งเป็นที่รวมตัวของกลุ่มคนที่มีความสนใจในความงดงามของสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัยรัตนโกสินทร์ โดยในครั้งนี้ ทาง “รัตนโกสิเนหา” ได้จัดทริปชื่อ บวรวิมาน นำพาคณะมาเที่ยวชมความงามของวัดบวรนิเวศฯ แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชมพระอุโบสถ, พิพิธภัณฑ์(มนุษยนาควิทยาทาน), พิพิธภัณฑ์ ภปร. ตลอดจนการรับฟังเกร็ดประวัติศาสตร์ และเข้าชมสิ่งของ วัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้เป็นอย่างดี

ภาพความงดงามของพระอุโบสถ ปรากฏเป็นฉากหน้าของสายตายามเมื่อเดินผ่านซุ้มประตูอันแสนวิจิตร ภายในพระอุโบสถ มีพระประธานตั้งอยู่ 2 องค์ องค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ทางด้านหลัง คือ พระสุวรรณเขต ซึ่งเป็นพระประธานองค์เดิม ก่อนที่ภายหลังจะมีการอัญเชิญ พระพุทธชินสีห์ มาจากจ.พิษณุโลก มาประดิษฐานไว้ที่ด้านหน้า นอกจากนี้ ยังมีพระศาสดา ซึ่งเป็นพระในยุคสมัยเดียวกับพระพุทธชินสีห์ และพระพุทธชินราช ก็ถูกอัญเชิญมาไว้ที่พระวิหารด้านหลังในวัดบวรนิเวศฯ อีกด้วย

ความโดดเด่นของอุโบสถที่นี่ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปปริศนาธรรม ผลงานของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในสมัยร. 4 ซึ่งงานเขียนปริศนาธรรมแบบนี้ยังปรากฏอยู่ที่ผนังพระอุโบสถของวัดบวรนิวาส ซึ่งเป็นวัดคู่แฝดของวัดบวรนิเวศนี้ด้วยเช่นกัน

หลังดื่มด่ำกับความสวยงามภายในอุโบสถ และทึ่งกับผลงานภาพปริศนาธรรมของจิตรกรเอกแห่งยุคสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว คณะของเราก็ออกมาเดินต่อไปยังพระเจดีย์ ซึ่งอยู่ด้านหลังถัดจากพระอุโบสถไป ได้มีโอกาสไหว้พระไพรีพินาศ พระพุทธรูปที่มีผู้คนเคารพศรัทธาอย่างมาก ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเก๋งชั้นสองภายในบริเวณฐานเจดีย์ น่าเสียดายว่าวันที่เราเดินทางไป ส่วนของพระวิหาร และเก๋งจีน อยู่ระหว่างการบูรณะ จึงไม่สามารถเดินเข้าไปเที่ยวชมได้

พระไพรีพินาศ

จากนั้น เราเดินย้อนกลับมาบริเวณด้านหน้า เพื่อเดินเท้าต่อไปยังชมตำหนักที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดบวรนิเวศ ซึ่งมีพระตำหนัก 2 หลังที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมอ้นโดดเด่นจนสะกดสายตาของผู้มาเยือน นั่นคือ พระตำหนักจันทร์ และ พระตำหนักเพ็ชร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆกัน โดยพระตำหนักทั้งสองถูกสร้างขึ้นในสมัย ร.5 และ ร.6 ตามลำดับ โดยทางวัดจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะส่วนด้านนอกเท่านั้น ส่วนพื้นที่ภายในจะเปิดสำหรับใช้ในกิจการของวัดเท่่านั้น

อีกจุดที่น่าสนใจมากของที่นี่ และอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองมาเที่ยวชม คือ ส่วนของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีอยู่ 2 อาคาร คือ พิพิธภัณฑ์(มนุษยนาควิทยาทาน) และ พิพิธภัณฑ์ ภปร. ซึ่งเปิดให้บริการเข้าชมได้ฟรี ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. โดยภายในพิพิธภัณฑ์ จะมีการเก็บรวบรวมและแสดงสิ่งของสำคัญๆ เช่น ตาลปัต พัดยศของที่ระลึกต่างๆ พระพุทธรูป พระบูชา ไว้อย่างเป็นระเบียบ แถมเปิดเครื่องปรับอากาศให้ผู้ชมสามารถเดินชมได้แบบเย็นสบาย ที่นี่ เราจะมีโอกาสได้ชมพระกริ่งปวเรศเป็นบุญตา พระกริ่งปวเรศนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  ทรงจัดสร้างไว้ ถือเป็นต้นตำรับพระกริ่งไทย และมีอยู่ไม่กี่องค์ มีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า เคยมีเจ้าสัวมหาเศรษฐีไทยรายหนึ่งควักเงินซื้อเก็บไว้ในราคาหลักร้อยล้านบาทเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งราคาตลาดในปัจจุบันสูงขึ้นกว่านี้แน่นอน นอกจากนี้ ยังมีพระนิรันตราย ซึ่งจะอัญเชิญมาประดิษฐานในพระอุโบสถเฉพาะตอนมีการจัดพระราชพิธี หรือโอกาสพิเศษบางครั้งเท่านั้น ก็นำมาจัดแสดงให้ชมไว้ที่นี่ด้วยเช่นกัน

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเคยมีโอกาสมาเที่ยวชมวัดบวรนิเวศอยู่หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็จะไปแค่ไหว้พระภายในพระอุโบสถ หรือมากหน่อยก็เดินเที่ยวต่อที่พระเจดีย์ แต่หากมีเวลา อยากเชิญชวนให้ผู้สนใจลองเปิดประสบการณ์มาเที่ยวดูสถาปัตยกรรมต่างๆ และส่วนพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกล้าบอกเลยว่า วันเดียวเที่ยวไม่หมดและไม่พอแน่นอน หากใครอยากหนีความวุ่นวาย หาที่สงบมาพักผ่อนจิตใจ ต้องลองมาเที่ยวชมวัดแห่งนี้แห่งนี้ดูสักครั้ง รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน นอกจากนี้ แถวบางลำภู ก็ยังเป็นแหล่งอาหารอร่อย สำหรับเติมพลังงานหลังจากเดินเที่ยวชมวัดกันมาทั้งวันได้อย่างดีทีเดียว.