นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเดินหน้าศึกษาผลกระทบ 3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์ หวังเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน และพื้นที่ชลประทาน ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตรและอุปโภคบริโภค
จ.เพชรบูรณ์มีภูมิประเทศเป็นแนวยาว ลักษณะคล้ายปากนก มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. มีความต้องการใช้น้ำปีละกว่า 800 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มเป็น 1,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์สามารถพัฒนาแหล่งน้ำและเก็บกักน้ำได้เพียง 223 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร และการประปา ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
กรมชลประทาน จึงได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำป่าสักเพิ่มเติม เนื่องจากลำน้ำสาขาในลุ่มน้ำป่าสักมีปริมาณมากในขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีศักยภาพรับน้ำได้เพียง 960 ล้าน ลบ.ม. สำนักบริหารโครงการจึงได้ศึกษาแผนงานโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำตอนบนของลุ่มน้ำป่าสัก พบว่าสามารถทำได้ถึงจำนวน 19 โครงการ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์มี 3 โครงการ ที่ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำทิน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ โครงการประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อำเภอหล่มสัก
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวด้วยว่า อ่างเก็บน้ำน้ำทิน อ่างเก็บน้ำนางั่ว และอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวง เป็นส่วนหนึ่งของการสนองพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการพัฒนาศักยภาพการเก็บกักน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนป่าสักฯที่มีปริมาณมาก โดยพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ถือเป็นพื้นที่บนสุดของลุ่มน้ำป่าสัก หากทั้ง 3 โครงการเกิดขึ้น จะสามารถเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำและพื้นที่ชลประทานให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้
“สิ่งสำคัญของการศึกษาผลกระทบ คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ กรมชลประทานตระหนักเป็นอย่างมากในการศึกษาผลกระทบในทุกด้าน ทั้งวิถีชีวิตดั้งเดิม ระบบนิเวศของป่า สัตว์ป่า และแหล่งน้ำ โดยการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายทั้งผู้ได้รับผลกระทบและผู้ที่มีส่วนได้รับประโยชน์จากโครงการ รวมไปถึงความคุ้มค่าของงบประมาณ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน ตรงกับเป้าหมายและสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำ เพื่อรองรับสังคมเมืองที่กำลังเติบโต รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้การวางระบบการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างทั่วถึง” นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวในที่สุด
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำทิน สามารถเก็บกักน้ำได้ 15.68 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุเพื่อส่งน้ำให้กับ 13 หมู่บ้าน ของตำบลตะเบาะ และตำบลน้ำร้อน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้รวม 10,050 ไร่ ส่วนอ่างเก็บน้ำนางั่ว เก็บกักน้ำได้ 10.67 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 8,660 ไร่ ช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยในฤดูน้ำหลากได้ด้วย และอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อำเภอหล่มสัก สามารถเก็บกักน้ำได้ 13.45 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 9,700 ไร่ หากทั้ง 3 โครงการสามารถดำเนินการได้ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค ทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น