บทความ โดย อัปสร พรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้แหล่งอาหารจากธรรมชาติเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแหล่งน้ำจืดและสัตว์-น้ำพื้นถิ่นที่เป็นอาหารหลักของประชาชนในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกัน ความต้องการโปรตีนคุณภาพสูงจากสัตว์น้ำกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องๆ ด้วยปัจจัยด้านประชากร การขยายตัวของเมือง และการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่

ในบริบทนี้ “ปลาหมอสีคางดำ” (Sarotherodon melanotheron) ซึ่งเป็นปลาน้ำกร่อยสายพันธุ์จากแอฟริกาตะวันตกกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทย ทั้งในมิติของการอนุรักษ์ ความปลอดภัยด้านอาหาร และภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ แต่หากพิจารณาโดยใช้หลักวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างรอบด้าน จะพบว่าปลาชนิดนี้อาจเป็นโอกาสใหม่ทางอาหารของไทย หากได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบที่เหมาะสม
จากการศึกษาด้านโภชนาการในแอฟริกา พบว่า เนื้อปลาหมอสีคางดำมีโปรตีนสูง (ประมาณ 17–20%) และไขมันต่ำ เป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า-3 วิตามิน B และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก ด้วยคุณค่าทางอาหารดังกล่าว หลายประเทศในภูมิภาค Sub-Saharan Africa ได้นำปลาชนิดนี้มาบริโภคในชีวิตประจำวัน ทั้งแบบสด แห้ง หรือหมัก และยังมีการเพาะเลี้ยงในระบบน้ำกร่อยเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ด้านความปลอดภัยทางอาหาร ไม่พบหลักฐานว่าปลาหมอสีคางดำเป็นพาหะของสารพิษหรือเชื้อโรคเฉพาะชนิด หากอยู่ภายใต้ระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน และควบคุมคุณภาพน้ำอย่างเหมาะสม

หากการปฏิเสธปลาหมอสีคางดำเพียงเพราะไม่ใช่สัตว์น้ำพื้นถิ่น อาจเป็นมุมมองเพียงด้านเดียว แต่ในบริบทของโลกที่การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องปกติที่พูดถึงทุกวัน การแสวงหาหรือสร้างแหล่งอาหารทางเลือกใหม่สำหรับเลี้ยงประชากรโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญในระดับต้น แม้แต่ประเทศที่เคยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้มาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์และกัมพูชา ท้ายที่สุดก็สามารถจัดการกับปลาหมอคางดำได้อย่างเป็นระบบและใช้ประโยชน์จากปลาอย่างคุ้มค่า
พิจารณาจากข้อเท็จจริง ปลาจำนวนมากในธรรมชาติกำลังลดลง ทั้งจากโลกร้อน น้ำทะเลหนุนและมลพิษ อาหารจากธรรมชาติไม่สามารถรองรับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นได้ในระยะยาวอีกต่อไป นั่นหมายความว่าความมั่นคงอาหารของมนุษย์กำลังถูกสั่นคลอน ดังนั้นเราควรระดมความร่วมมือจากทั่วโลกในการลดภาวะโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบวงกว้างทั่วทุกหัวระแหงในโลกนี้ ควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลธรรมชาติใหม่แม้จะไม่เหมือนเดิมก็ควรให้กลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะการลดอุณหภูมิโลกลง 1-2 องศา ก็มีผลกระทบเชิงบวกอย่างใหญ่หลวง
ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งศึกษาแนวทางการจัดการเชิงวิชาการกับปลาหมอสีคางดำ จัดระบบและระเบียบที่เข้มงวดใช้แนวทาง “ควบคุมเพื่อใช้ประโยชน์” ไม่ใช่ “กำจัดเพื่อหวังให้กลับสู่ธรรมชาติเดิม” เน้นเรื่องการเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ ถึงปลาหมอสีคางดำจะได้ชื่อว่าเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” แต่คนไทยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มายาวนาน เห็นได้ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์หลายชนิดกลายเป็นอาหารอันโอชะของคนไทยและมีการเลี้ยงเชิงพาณิชย์มานานหลายสิบปี เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุกรัสเซีย เป็นต้น และยังสามารถจับปลาเหล่านี้ได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติได้เป็นเรื่องปกติ จึงน่าจะมองปลาหมอสีคางดำในมุมของอาหารมั่นคงเพื่อประโยชน์ในอนาคต น่าจะเป็นไปได้ หากคนไทยจะมอง “ปลาหมอสีคางดำ” เป็นความหวัง ไม่ใช่ความกลัว ไม่ใช่ศัตรูของระบบนิเวศ หากอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเหมาะสม และสามารถเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกสำหรับคนไทยในยุคที่ “ปลาธรรมชาติ” ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านอาหารอย่างเพียงพอได้อีกต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผลักดันให้มีนโยบายจัดการปลาชนิดนี้บนฐานของข้อมูลวิชาการที่แม่นยำ แทนการสร้างภาพลักษณ์เชิงลบแบบยังไม่มีบทพิสูจน์ที่ชัดเจน น่าจะเป็นแนวทางที่สร้างสรรค์และยั่งยืนกว่าสำหรับทั้ง ภาคการประมง ชุมชมและผู้บริโภค.