ประมงสงขลาหนุนกำจัดปลาหมอคางดำด้วย “กากชา” ลดเสี่ยงผลผลิตเสียหาย

ประมงจังหวัดสงขลาและอำเภอระโนดเร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำที่อยู่ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในอำเภอระโนด สนับสนุนใช้แนวทางธรรมชาติ นำ ‘กากชา’ มาช่วยกำจัดปลาที่สร้างความเสียหายช่วยเยียวยาและลดความเสี่ยงให้เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงปูทะเลมีผลผลิตที่ดี บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมทั้งเป็นการตัดวงจรและควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ

การสนับสนุนกากชาเป็นช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องเกษตรกรรายย่อย ประมงอำเภอระโนดได้รับการสนับสนุนกากชาจำนวน 1 ตันจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรเลี้ยงปูทะเลที่ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือกลุ่มแรก 20 ราย เกษตรกรนำกากชาที่ได้รับการสนับสนุนไปโรยในบ่อเลี้ยงปูทะเล เพื่อให้สามารถจับปลาหมอคางดำได้ง่ายขึ้น เพราะกากชาไม่ส่งผลกับปูทะเล เพื่อช่วยป้องกันให้ปลาหมอคางดำไปกินตัวอ่อนของปูทะเล กากชาเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อปู หรือกุ้ง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปูทะเลนำไปใช้ในบ่อเพาะเลี้ยงอยู่แล้ว

จากการตรวจติดตาม ประมงสงขลาพบว่ายังมีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในคลองส่งน้ำและบ่อพักน้ำของเกษตรกร จึงมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเฝ้าระวัง และปรับวิธีการเตรียมบ่อเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำโดยการหว่านกากชาก่อนการเลี้ยงในรอบต่อไปอีกด้วย นอกจากช่วยเกษตรกรมีผลผลิตที่ดี ยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ปลาชนิดนี้แพร่กระจายออกจากบ่อเลี้ยงสัตว์นำไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

อำเภอระโนด ยังคงเป็นอำเภอเดียวในจังหวัดสงขลาที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทั้งนี้ ประมงจังหวัดสงขลาและอำเภอระโนดได้บูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน เกษตรกรและชาวประมง ภายใต้คณะทำงานช่วยกันกำจัดปลาหมอคางดำตามมาตรการของกรมประมง ตั้งแต่การจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ การปล่อยปลาผู้ล่าลงในลำคลอง การนำมาใช้ประโยชน์ทั้งการรับซื้อทำน้ำหมักชีวภาพ และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น ส่งผลให้ปลาหมอคางดำเบาบางลงในบางลำคลอง และมีการสำรวจการกระจายตัวของปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำเดือนละครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจังหวัดสงขลาสามารถควบคุมประชากรปลาชนิดนี้ได้อย่างยั่งยืน

แหล่งน้ำธรรมชาติในอำเภอระโนดมีการเชื่อมต่อกันระหว่างคลองสายหลัก คลองสาขา จนถึงลำรางระบายน้ำ ประกอบกับปลาชนิดนี้มีการขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จังหวัดสงขลาต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงชาวประมง เกษตรกร และชุมชนในการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และต้องทำอย่างครบวงจร ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรรายเล็กๆ มีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงปูจึงเป็นอีกแนวทางที่ประสิทธิภาพช่วยลดแหล่งอาศัยปลาชนิดนี้ ควบคู่กับการให้ความรู้ผู้เลี้ยงปูให้ความสำคัญกรองน้ำป้องกันปลาหมอคางดำหลุดเข้ามาในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

นอกจากนี้ ประมงสงขลายังเดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในจังหวัดมีความตระหนักและร่วมมือกันเฝ้าระวังปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำนอกอำเภอระโนด รวมทั้งยังสร้างความเข้าใจว่าปลาชนิดนี้มีประโยชน์ และสามารถบริโภคได้ ชาวจังหวัดสงขลาสามารถเป็นอีกพลังในการแก้ปัญหานี้ด้วยการนำมาใช้ประโยชน์ และพัฒนาแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ อีกด้วย.