มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผย สถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม เป็นช่วงวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบหลายด้าน
พบว่า มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,055 เรื่อง ปัญหาเป็นอันดับหนึ่งและสอง คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คิดเป็น 36.11% และ บริการสาธารณะ คิดเป็น 33.46% โดยปัญหาการเลื่อน – ยกเลิกเที่ยวบิน เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่องการเงินการธนาคาร คิดเป็น 8.91% มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการปรึกษาเรื่องหนี้บัตรเครดิต
ทั้งนี้ ปัญหาการเลื่อน – ยกเลิกเที่ยวบิน และปัญหาหนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
โดยปัญหาหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง มีทั้งการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง การแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลข อย. ผลิตภัณฑ์ที่ฉลากถูกสั่งเลิกใช้แล้ว และผลิตภัณฑ์ที่ฉลากไม่ครบถ้วน ไม่มีภาษาไทย
สำหรับปัญหาด้านบริการสาธารณะ เรื่องรถโดยสารสาธารณะยังคงเป็นปัญหาที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพนักงานประพฤติตัวไม่เหมาะสม และการชดเชยเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร ประเภทรถที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ รถตู้โดยสาร และรถทัวร์ และ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมายังพบการร้องเรียนปัญหาเรื่องการเลื่อน – ยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาล เช่น การเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ เป็นต้น ซึ่งสายการบินควรจะมีนโยบายการเลื่อน ยกเลิก และคืนเงินให้ผู้บริโภค เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลด้วย
และปัญหาด้านการเงินการธนาคาร พบปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตมากที่สุด ส่วนใหญ่ขอคำปรึกษาเรื่องการผิดนัดชำระ จนเกรงว่าจะติดเครดิตบูโรหรือถูกฟ้อง เนื่องจากเมื่อมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประชาชนบางกลุ่มถูกให้ออกจากงานเพื่อลดภาระของบริษัท หรือบางบริษัทต้องปิดตัวลง ทำให้ไม่สามารถหาเงินไปชำระหนี้บัตรเครดิตได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาธุรกิจเช่าซื้อยานพาหนะ ธุรกิจสินเชื่อ ที่ได้รับผลกระทบเรื่องการชำระหนี้ แม้รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือโดยให้สถาบันการเงินบางแห่งพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นเวลา 3 เดือน แต่ก็ยังช่วยเหลือลูกหนี้ได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากผู้บริโภคบางรายมีหนี้สินกับหลายสถาบัน แต่การหยุดพักชำระหนี้ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด รวมถึงระบบการเยียวยาไม่ได้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ทำให้ปัญหาเรื่องหนี้สินของผู้บริโภคยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคได้แก้ไขปัญหาไปแล้ว 693 เรื่อง หรือร้อยละ 65.69 โดยเรื่องเฝ้าระวังสินค้าอันตรายออนไลน์ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA รวมถึงตลาดออนไลน์ต่างๆ (E-Market place) เช่น Lazada Shopee ในการจัดการปัญหา หากมีเรื่องร้องเรียนหรือพบว่ามีร้านค้าขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตลาดออนไลน์ก็จะมีการตรวจสอบและดำเนินการนำสินค้านั้นออกจากหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านอื่น เช่น บริการสายการบิน มูลนิธิฯ และเครือข่าย ได้ประสานงานกับทางบริษัท เพื่อให้ยกเลิกและคืนเงินให้กับผู้บริโภค