ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืนของตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดให้บริการระบบ ESG Data Platform ซึ่งรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการที่ บจ. นำส่งข้อมูล ประมวลผล จนถึงเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้ใช้งานแบบ end-to-end solution เน้นรูปแบบข้อมูลที่ง่ายต่อการนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางการเงิน รองรับการเปิดเผยข้อมูลตามแบบ 56-1 One Report ของสำนักงาน ก.ล.ต. และสอดคล้องมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ESG Data Platform จะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจและการลงทุนที่ยั่งยืน โดยในเฟสแรก เปิดให้ บจ. นำส่งข้อมูล ESG แล้ว ต.ค. นี้ และ เฟส 2 จะเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ โดยผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจ ตั้งแต่ผู้ลงทุน ลูกค้า และหน่วยงานกำกับดูแล ต่างแสดงความต้องการให้ภาคธุรกิจเปิดเผยข้อมูล ESG ซึ่งจะสร้างความมั่นใจว่าผู้ประกอบการมีการปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน บริหารความเสี่ยง ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาระบบ ESG Data Platform โดยเป็นนวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่จัดทำขึ้นร่วมกับภาคส่วนในตลาดทุน เพื่อให้เป็นระบบจัดการข้อมูลด้าน ESG ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นว่ากลไกการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนที่ยั่งยืนในตลาดทุนในระยะยาว สอดรับวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมให้ บจ. รายงานข้อมูล ESG โดยมีหลักสูตรเรียนรู้และเครื่องมือที่ช่วยให้ บจ. เกิดความเข้าใจและเปิดเผยข้อมูลได้สอดคล้องตามแบบ 56-1 One Report นอกจากนี้ ยังยกระดับคุณภาพข้อมูลด้าน ESG ด้วยการพัฒนาตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนตามกลุ่มอุตสาหกรรมหรือ ESG Metrics เพื่อส่งเสริมให้ บจ. มีแนวทางในการพัฒนาความยั่งยืนที่ชัดเจนและเหมาะกับอุตสาหกรรม และเตรียมความพร้อมก่อนรายงานตามกรอบความยั่งยืนสากล เช่น GRI Standards และ TCFD เป็นต้น” นายภากรกล่าว
ระบบ ESG Data Platform มีจุดเด่น คือ การออกแบบชุดข้อมูลที่มีการจัดเรียงโครงสร้างอย่างชัดเจนหรือ Structured Data ที่เน้นนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมและข้อมูลทางการเงินอย่างสะดวก สำหรับเฟสแรกของระบบ ESG Data Platform ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะรวบรวมข้อมูล ESG พื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ปริมาณการใช้พลังงานและทรัพยากร ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลเกี่ยวกับพนักงาน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการบริษัท และเชื่อมต่อกับระบบนำส่งรายงาน 56-1 One Report โดยเปิดให้ บจ. จัดทำและนำส่งข้อมูล ESG ผ่านระบบ SETLink ตั้งแต่ 3 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา จากนั้นในเฟสที่ 2 จะเริ่มเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น SET Website, เว็บไซต์ settrade และระบบ SETSMART ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เป็นต้นไป ESG Data Platform จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ตอบโจทย์อุตสาหกรรม และยังคำนึงถึงความพร้อมของ บจ. นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะนำข้อมูล ESG ไปใช้ในการประเมิน เช่น หุ้นยั่งยืน THSI และ CGR เพื่อลดภาระและความซ้ำซ้อนในการนำส่งข้อมูลของ บจ. ด้วย