ซีพีเอฟ ยกระดับการเลี้ยงปลารูปแบบ CARE Aquaculture Model สร้างความปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อม



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงปลาด้วยรูปแบบ CARE Aquaculture Model โดยนำหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) ที่ใส่ใจต่อสุขภาพสัตว์ เพื่อผลิตเป็นอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตามแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน


นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำครบวงจร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในด้านสวัสดิภาพสัตว์ในการเลี้ยงปลา ตั้งแต่การส่งมอบลูกปลา การเลี้ยงปลาเนื้อ การจับผลผลิตปลา จนส่งมอบถึงมือผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่การผลิตลูกปลาที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ใส่ใจในการส่งมอบลูกปลาจนถึงฟาร์มเกษตรกรด้วยรถควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม มีขั้นตอนการลงปลาที่นุ่มนวล ไม่ให้เกิดการบอบช้ำ นอกจากนี้ ก่อนการลงลูกปลาได้มีการเตรียมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมกับปลา ทำให้ลูกปลาที่ลงเลี้ยงมีสุขภาพดี


นอกจากนี้ ในระหว่างการเลี้ยงมีการจัดการด้านคุณภาพน้ำให้มีคุณภาพดีตลอดเวลา มีระบบการหมุนเวียนกลับมาใช้ คุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงจึงไม่เปลี่ยนแปลง มีการใช้เครื่องให้อากาศเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้เพียงพอ ทำให้ปลาสุขสบายและมีสุขภาพแข็งแรง และยังนำโปรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มาใช้ในน้ำเลี้ยงและอาหาร โดยใช้อาหารปลาสำเร็จรูปที่มีคุณภาพสูง มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในทุกช่วงอายุ สอดคล้องกับการเลี้ยงปลาในรูปแบบ CARE Aquaculture Model ซึ่งประกอบด้วย C – Consumer Need คือ การผลิตที่ใส่ใจความต้องการของผู้บริโภค A – Achieve Easily and Consistently ระบบที่ง่ายต่อการเลี้ยง สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง R – Reliable System ผลผลิตมีคุณภาพ แน่นอน และ E – Environmental Friendly ระบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้  
สำหรับขั้นตอนของการจับและการส่งมอบเพื่อจำหน่าย ซีพีเอฟ มีเครื่องมือและเทคโนโลยีในการจับปลาโดยการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมทำให้ปลาสงบนิ่ง สามารถจับได้อย่างนุ่มนวลไม่ทำให้ปลาบอบช้ำ จึงไม่เกิดความเครียดระหว่างการขนส่งสู่ตลาด ส่งผลให้ได้เนื้อปลาคุณภาพดีเหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟ มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งในทุกขั้นตอนการเลี้ยงจะคำนึงถึงเรื่องประหยัดพลังงาน การรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และประเทศชาติอย่างยั่งยืน