BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ถือเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่รัฐบาลและภาคธุรกิจทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ หนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย คือ การมุ่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
นิวซีแลนด์ ผู้ส่งออกเนื้อสัตว์และปศุสัตว์รายใหญ่ระดับโลก นับเป็นประเทศแรกๆของโลก ที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเตรียมจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซจากฟาร์มปศุสัตว์ รวมไปถึงก๊าซที่เกิดจาก ‘เรอ-อึ-ฉี่’ ของปศุสัตว์ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่รัฐบาลนิวซีแลนด์กำหนดไว้ในปี 2025
สำหรับไทยหากย้อนไปดูความเคลื่อนไหวในภาคปศุสัตว์แล้ว จะเห็นได้ชัดเจนถึงการพัฒนารูปแบบกระบวนการและการนำนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์มาปรับใช้เพื่อตอบโจทย์ “การลดภาวะโลกร้อน” โดยเฉพาะผู้นำเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ผลักดันโมเดลธุรกิจสีเขียว ตามนโยบาย BCG ทั้งการพัฒนากระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง
มาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม (CPF Greenfarm) คือหนึ่งในโมเดลธุรกิจสีเขียวอันโดดเด่น ด้วยการพัฒนาให้ฟาร์มสุกรของบริษัททั้ง 98 แห่ง เป็นต้นแบบฟาร์มรักษ์โลก “เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม” พร้อมผลักดันสู่เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง กับบริษัท นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เล่าว่า บริษัทดำเนินการตามมาตรฐาน Greenfarm อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552 ทั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรของบริษัทและฟาร์มของเกษตรกร ทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรฐานฯเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการจัดการของเสียภายในฟาร์ม ด้วยระบบ Biogas ที่ส่งผลดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ควบคู่กับการทำระบบฟอกอากาศท้ายโรงเรือนเลี้ยงสุกร จึงช่วยลดกลิ่นรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการปลูกไม้ยืนต้นในบริเวณฟาร์มและพื้นที่ว่างระหว่างโรงเรือน ที่ช่วยเพิ่มความร่มรื่นและลดความร้อนให้กับโรงเรือนสุกรช่วยลดการใช้พลังงานในระบบ EVAP สำหรับทำความเย็นในโรงเรือน
ที่สำคัญยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการต่อยอดความสำเร็จจากระบบ Biogas ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของกรีนฟาร์ม ที่สามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้ถึง 50-80% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 370,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เป็นผลดีทั้งในด้านการประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ ยังนำระบบโซล่าเซลล์ มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์ม เกิดผลประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่ “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ : SOLAR CELL” ในรูปแบบ “โซลาร์ฟาร์ม” โดยฟาร์มนำร่องที่ได้ติดตั้งและเดินระบบจ่ายไฟฟ้าแล้ว 5 ฟาร์ม ได้แก่ ฟาร์มกาญจนบุรี ฟาร์มวิเชียรบุรี ฟาร์มศรีเทพ ฟาร์มเพชรบูรณ์ และฟาร์มท่าจะหลุง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1.3 เมกะวัตต์ และขยายสู่โครงการเฟส 2 ในอีก 6 ฟาร์ม ได้แก่ ฟาร์มจันทบุรี1 ฟาร์มหนองคาย ฟาร์มโคกปี่ฆ้อง ฟาร์มคลองอุดม ฟาร์มศิลาทิพย์ และฟาร์มลพบุรี ซึ่งกำลังทำการติดตั้งระบบ รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1.25 เมกะวัตต์ และวางแผนขยายโครงการไปยังฟาร์มอื่นๆต่อไป
ขณะเดียวกัน ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทุกแห่ง มุ่งพัฒนากระบวนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่การผลิต ด้วยหลักการ 3Rs คือ “Reduce” ลดปริมาณการใช้น้ำ “Recycle” นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ และ “Reuse” นำน้ำมาใช้ซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น การนำน้ำที่ออกจากระบบ Biogas และผ่านการบำบัดจนเป็นน้ำที่มีคุณภาพนำกลับมาใช้ ช่วยลดการใช้น้ำดิบจากแหล่งธรรมชาติ และยังนำน้ำมาผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้งสำหรับใช้ล้างโรงเรือน นอกจากนี้ ยังนำน้ำสุดท้ายหลังการบำบัด ที่เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” ที่มีธาตุอาหารสำคัญที่เหมาะสมกับต้นพืชกลับไปใช้ประโยชน์ ทั้งรดสนามหญ้า ต้นไม้ และแปลงปลูกผักปลอดสารสำหรับบุคลากรในฟาร์ม พร้อมจัด “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่ชุมชน” ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เพื่อแบ่งปันน้ำให้แก่เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง ช่วยให้พืชเจริญเติบโตเร็ว ได้ผลผลิตคุณภาพดีและมีปริมาณเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ที่ขอเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ช่วยลดใช้พลังงาน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นมิตรชุมชน
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีฟาร์มของบริษัทเป็นต้นแบบ แล้วจึงถ่ายทอดความสำเร็จไปสู่ฟาร์มของเกษตรกร ทั้งมาตรฐานกรีนฟาร์ม การนำระบบ Biogas และโซลาร์ฟาร์ม จากพลังงานธรรมชาติที่กลายเป็นขุมพลังสำคัญสามารถป้อนไฟฟ้าเข้ากระบวนการเลี้ยง เป็นพลังงานสะอาดที่ฟาร์มสามารถผลิตใช้เองได้ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า บางฟาร์มสามารถทดแทนการใช้พลังงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ 100% และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ภาคปศุสัตว์ เป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกใบนี้ได้อย่างแท้จริง