นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารโรงแรมในเครือฟอร์จูน บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แต่บริษัทยังลงทุนต่อตามแผนเดิมที่วางไว้
ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มโรงแรมใหม่ประมาณ 5-10 แห่งในเมืองท่องเที่ยวต่างจังหวัด ภายใต้งบประมาณ 500-1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 100 ล้านบาทต่อแห่ง (ไม่รวมที่ดิน) จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการอยู่ทั้งสิ้น 12 แห่ง
โดยเบื้องต้นจะโฟกัสลงทุนบนที่ดินของตัวเองเป็นหลัก อาทิ มุกดาหาร, หนองคาย, ขอนแก่น, นครพนม (แห่งที่ 3) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมองหาทำเลลงทุนในภาคใต้เพิ่มอีกส่วนหนึ่งด้วย อาทิ สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่ เป็นต้น
นายสุนทรกล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มโรงแรมฟอร์จูนมีโรงแรม 3 ขนาด ประกอบด้วย โรงแรมขนาดใหญ่ ภายใต้แบรนด์แกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน โรงแรมขนาดกลาง ภายใต้แบรนด์ ฟอร์จูน โฮเทล และขนาดเล็ก ภายใต้แบรนด์ ฟอร์จูน ดีพลัส สำหรับโรงแรมที่จะเปิดใหม่ในปี 2564 นี้ คาดว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง โดยเกือบทั้งหมดจะเป็นโรงแรมขนาดเล็ก (ขนาด 79 ห้องพัก)
“การทำธุรกิจเราต้องมองระยะยาว ซึ่งเราเชื่อว่าสำหรับประเทศไทยแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม บริการยังมีศักยภาพสูง แน่นอนว่าเมื่อคนไทยไปต่างประเทศยากขึ้น พวกเขาก็ต้องหันมาเที่ยวภายในประเทศแทน นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เรายังคงลงทุนต่อเนื่องที่สำคัญ ฐานลูกค้าหลักของกลุ่ม ซี.พี.แลนด์ที่ผ่านมาก็เป็นคนไทยอยู่แล้ว”นายสุนทรกล่าว
และว่า นอกจากการโฟกัสลงทุนบนที่ดินของตัวเองแล้ว ที่ผ่านมาบริษัทยังส่งทีมพัฒนาธุรกิจไปหาโลเกชั่นใหม่เพิ่มขึ้น โดยโฟกัสโรงแรมที่อยากขาย ซึ่งที่ผ่านมามีเจ้าของโรงแรมจำนวนมากได้นำเสนอขายโรงแรมเข้ามาให้พิจารณาจำนวนมากด้วยเช่นกัน ซึ่งหากมีเงื่อนไขที่ดี บริษัทก็พร้อมใส่เงินซื้อและลงทุนอย่างเต็มที่เช่นกัน
“ตอนนี้โรงแรมที่ประกาศขายมีเยอะมาก โดยเฉพาะในเมืองพัทยา, ภูเก็ต, หาดใหญ่ ฯลฯ เพราะพื้นที่เหล่านี้พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งหากมีโอกาสที่เหมาะสม ทาง ซี.พี.แลนด์ก็พร้อมเข้าไปซื้อและลงทุนเพิ่มทันที เพราะวันนี้กลุ่ม ซี.พี.แลนด์ยังมีกำลังด้านเงินทุนเหมือนเดิม”
นายสุนทร กล่าวว่า สถานการณ์ของโรงแรมในเครือฟอร์จูนทั้ง 12 แห่ง บริษัทยังคงเปิดให้บริการโรงแรมทุกแห่ง ปัจจุบันประสบกับภาวะขาดทุนทั้งหมด แต่ก็มีความจำเป็นต้องเปิดให้บริการ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบต่าง ๆ ภายในโรงแรมทั้งหมด
รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการกลับมาเปิดใหม่เมื่อตลาดเริ่มกลับมาด้วย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นเรื่องใหม่ที่ธุรกิจโรงแรมต้องปรับตัวและตั้งรับ รวมทั้งมองหาโอกาสใหม่ ๆ
โดยมุ่งสร้างโอกาสจากธุรกิจ food delivery และการขาย street food ของทุกโรงแรมในเครือฟอร์จูนกรุ๊ป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สามารถทำได้ทันที อีกทั้งยังสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตกับการสั่งอาหารออนไลน์มากยิ่งขึ้น
ตอนนี้ ได้เปิดขายอาหารบริเวณหน้าโรงแรมในเครือฟอร์จูน 8 แห่ง คือ แกรนด์เมอร์เคียว กรุงเทพฯ ฟอร์จูน (พระราม 9), แกรนด์ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช, ฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม, ฟอร์จูน วิวโขง นครพนม, ฟอร์จูน ริเวอร์วิว เชียงของ, ฟอร์จูน โคราช, ฟอร์จูน แสงจันทร์ บีช ระยอง และฟอร์จูน คอร์ทยาร์ด เขาใหญ่ พบว่าได้รับผลตอบรับที่ดี สามารถสร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงบุคลากรของโรงแรมในช่วงภาวะวิกฤตนี้