ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยทุกอย่างเป็นไปตามแผน มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้แน่นอน และสามารถมีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงหน้าฝนอีกประมาณ 8,000 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ยังมีการวางแผนสำรองน้ำไว้ใช้เป็นเวลา 3 เดือน คือเดือนมิ.ย.-ส.ค. เพื่อบริหารความเสี่ยงกรณีฝนทิ้งช่วง
ในเบื้องต้น เดือนพ.ค. ลุ่มเจ้าพระยา จะมีน้ำสำรองไว้ใช้ไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ ในด้านของระดับค่าความเค็ม ก็สามารถควบคุมได้เช่นกัน ทำให้มั่นใจว่า มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคแน่นอน
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า วันที่ 1 เดือนพฤษภาคม ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นของฤดูฝน ทั้งนี้ กรมชลประทานได้สั่งการ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับช่วงฤดูฝนนี้ ดังนี้
- ตรวจสอบความมั่นคงของอ่างเก็บน้ำ, เขื่อนต่างๆ ที่เป็นอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำสายหลัก ให้สามารถใช้งานได้
- การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ตะกอนดิน หรือวัชพืชต่างๆ เช่น ผักตบชวา ต้องเก็บให้หมดภายใน 30 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 นี้ฃ
- เร่งรัดแผนงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอก และก่อสร้างต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อทันกับการกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้งปีหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวโน้มสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (ตัวเลขเมื่อวันที่ 22 มี.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 39,197 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 15,268 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 13,030 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,629 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,933 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,827 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ