กรมชลฯ เดินหน้าคุมค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่กระทบผลิตน้ำประปา

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้ง 4 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,364 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 4,668 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,843 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของแผนฯ เนื่องจากปีที่ผ่านน้ำต้นทุนมีจำกัด จำเป็นต้องสำรองน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ และปฏิบัติตามแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากที่กรมชลประทานได้ร่วมกับการประปานครหลวง ปฏิบัติการ Water hammer ในช่วงวันที่ 13 – 16 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาปริมาณ 80 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อผลักดันน้ำเค็มในแต่ละช่วงเวลา โดยจะหยุดสูบน้ำในช่วงที่น้ำขึ้น และบริหารจัดการด้านท้ายน้ำด้วยการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำให้สอดคล้องกัน ทำให้ปัจจุบัน วัดค่าความเค็มที่สถานีประปาสำแล ได้ 0.21 กรัมต่อลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่กระทบต่อน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาของการประปานครหลวง ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำและอาคารชลประทาน เพื่อป้องกันความเค็มไม่ให้เข้าไปในพื้นที่การเกษตร ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด

กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและค่าความเค็มในลุ่มน้ำต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต เป็นธรรม เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2564 อย่างเพียงพอ ภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลนน้ำให้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา