อีก 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมี สนามบินนานาชาติ แห่งที่ 3 ตามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยยกระดับสนามบินอู่ตะเภาในปัจจุบัน ให้เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก ตามแผนแล้ว จะเปิดให้บริการได้ในปีพ.ศ. 2568
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการพัฒนาสนามบิน ภายในพื้นที่ 6,500 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ในเขตส่งเสริม “เมืองการบินภาคตะวันออก”
ถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง สามารถรองรับผู้โดยสารรวมกัน 3 สนามบิน ได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี
และยังจะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) สานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
ปัจจุบัน ได้มีการลงทุนในด้านต่าง ๆ ทั้งการให้บริการสนามบินเชิงพาณิชย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ ช่วยจูงใจให้เกิดลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
ความคืบหน้าล่าสุดเป็นในส่วนของการวางระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน โดยเมื่อวันที่ 19 ส.ค .ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อประกอบการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างกระทรวงการคลัง โดย สกพอ. และ บริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จํากัด (GAA) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า ที่จัดตั้งร่วมกันระหว่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS)
โดยเป็นการเช่าพื้นที่บริเวณสนามบินอู่ตะเภา บนพื้นที่ 17 ไร่ เป็นระยะเวลา 14 ปี
ความร่วมมือครั้งสำคัญของ OR และ BAFS เกิดขึ้นภายหลังจากที่ สกพอ. ได้ออกหนังสือแสดงเจตนารมณ์(Letter of Intent) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2564แจ้งว่า ทั้งสองบริษัท ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ผู้ประกอบการระบบบริการนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ภายใต้การจัดตั้งเป็นกิจการร่วมค้า
นำไปสู่การจัดตั้ง GAA ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท มี BAFS ถือหุ้น 55% และ OR ถือหุ้น 45% เพื่อดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมในด้านระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ส่งเสริมศักยภาพสนามบินอู่ตะเภาที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี
มูลค่าการลงทุนเริ่มแรกของ GAA ประมาณ 2,300 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานรองรับการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของสนามบินอู่ตะเภา ในปี 2568 และการเติบโตของ EEC ตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล
การจัดตั้งกิจการร่วมค้า GAA ในครั้งนี้ ถือได้ว่า เป็นการร่วมมือของสองบริษัทใหญ่ที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน มีความเชี่ยวชาญ และมีมาตรฐานการดำเนินงานในระดับสากล โดย BAFS ผู้นำในด้านการให้บริการระบบเติมน้ำมันอากาศยานแบบครบวงจรของประเทศ ขณะที่ OR เองก็เป็นผู้นำด้านการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานของประเทศ ความร่วมมือของสองบริษัทจึงได้รับความเชื่อถือจากไว้วางใจจากบริษัทน้ำมันและสายการบินจากทั่วโลก
สำหรับ OR ดำเนินธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ผลิตภัณฑ์ของ OR จึงได้รับการยอมรับจากสายการบินพาณิชย์ชั้นนำทั่วโลกกว่า 100 สายการบิน
คุณ จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ OR กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า OR ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน Flagship ของกลุ่ม ปตท. และเป็นผู้นำด้านพลังงาน OR ให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองได้ทุกความต้องการของลูกค้าในอุตสาหกรรมการบิน การได้ร่วมมือกับ BAFS จะเป็นการเสริมศักยภาพในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานภายในสนามบินอู่ตะเภา สอดคล้องกับเป้าหมายในการยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานานชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ถือเป็นอีกก้าวย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ OR ในฐานะบริษัทเอกชน หลังจากที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีการดำเนินโครงการใหม่ๆ ตลอดจนการลงทุนต่างๆ เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความคล่องตัวและศักยภาพให้กับธุรกิจ โดยมีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยัน