ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ที่กำลังปกคลุมตลบอบอวลในหลายจังหวัดภาคเหนือของไทย จนถึงช่วงนี้ยังคงอยู่ในสถานะเกินค่ามาตรฐานหลายเท่าตัวจนครองแชมป์โลก และกลายเป็นผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงที่จะแย่ลงไปเรื่อยๆ หากไม่มีการลงมือทำ
ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือมีมานานนับ 10 ปีแล้ว แต่ในปีนี้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากอย่างน่าตกใจ จากข้อมูลดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบจุดความร้อนส่วนใหญ่มาจาก “ไฟป่า” ทั้งจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนหน้าแล้ง และในปีนี้แล้งมาเร็วกว่าปกติ และในช่วงเดียวกันนี้ที่เกษตรกรในภาคเหนือมักเลือกใช้วิธีเผาตอซังเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในหน้าฝนที่กำลังจะมาถึง โดยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) โดยเฉพาะ ข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA ที่ติดตามมาตั้งแต่ต้นปี 2566 สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า จุดความร้อนส่วนใหญ่ร้อยละ 96 มาจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวน ล่าสุดข้อมูลของวันที่ 18 เมษายน 2566 พบจุดความร้อนในประเทศไทยสูงถึง 1,328 จุด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากที่สุด 501 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 374 จุด รวมแล้ว 875 จุด ขณะที่ จุดความร้อนบนพื้นที่เกษตร 248 จุด พื้นที่เขตสปก. 129 จุด พื้นที่ชุมชนอื่นๆ อีก 64 จุด
แม้ว่า การทำกิจกรรมต่างๆ มีส่วนทำให้เกิดฝุ่นควัน ไม่เพียงภาคเกษตร แต่มาจากควันจากท่อไอเสีย การก่อสร้าง และ ปฎิเสธไม่ได้ ต้นตอใหญ่ของฝุ่นควันที่ปกคลุมทาคเหนือในช่วงนี้มาจาก “ไฟป่า” เป็นสำคัญ เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากจนน่าตกใจ จึงเป็นสาเหตุที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ข้อมูลไฟป่าในปีนี้ที่เกิดเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดการนำระบบฐานข้อมูลมาเชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงลึกด้านอื่นๆ เช่น พฤติกรรมการหาของป่า นำไปสู่การจัดทำแผนเชิงรุก ควบคุมและป้องกัน “ต้นตอ” ของปัญหาฝุ่นควันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ต้องให้ความร่วมมือและทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อลดการเผาเพื่อหาของป่า หรือการเผาพื้นที่การเกษตรโดยขาดการควบคุม
ในส่วนของ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ที่กลายเป็นจำเลยสำคัญของฝุ่นควัน ที่ประชุมภาครัฐ-เอกชนที่ GISTDA จัดขึ้นนำโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลแก้ปัญหาฝุ่นควัน ได้มีความเห็นร่วมกันว่าจะนำระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งปลูกข้าวโพดของเครือซีพี ซึ่งมีการขับเคลื่อนการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่ถูกกฎหมายและไม่เผาหลังเก็บเกี่ยวมาหลายปีแล้ว เป็นภาคเอกชนที่นำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ปัจจุบัน 100% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่จัดหาโดยซีพีสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงพื้นที่ปลูกที่ระบุได้ว่าไม่รุกป่า และไม่เผา การถอดบทเรียนระบบตรวจสอบย้อนกลับของเครือซีพีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อจะร่วมกันปฏิเสธการรับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ผิดกฎหมาย รุกป่า และมีการเผาหลังเก็บเกี่ยว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสรุปว่า ฝุ่นควันข้ามพรมแดน นับเป็นปัญหาใหญ่ระหว่างประเทศของอาเซียนที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันหาทางออก โดยประเทศไทยเตรียมถอดบทเรียนระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่แหล่งปลูก และเทคโนโลยีดาวเทียมของเครือซีพี เพื่อถ่ายทอดให้แก่ประเทศเมียนมา และสปป.ลาว เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา “ฝุ่นควันข้ามพรมแดน” ได้อย่างยั่งยืน และต้องยอมรับว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย เมียนมา สปป.ลาว และเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของภาคปศุสัตว์ ซึ่งเชื่อมโยงถึงความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน
ขณะเดียวกัน ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาเกือบทั้งหมดส่งออก สัดส่วนที่ส่งออกมายังประเทศไทยนับเป็นส่วนน้อย ประเทศไทยมีเงื่อนไขการตรวจสอบย้อนกลับว่าข้าวโพดทุกเม็ดต้องไม่เผา และมาจากพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่างไทย–สปป.ลาว–เมียนมา ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอยุทธการฟ้าใส (CLEARSky Strategy) เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน ซึ่งทั้งผู้นำต่างเห็นพ้องเตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมสามฝ่ายเดินหน้าแก้วิกฤตหมอกควันข้ามแดน โดยประเทศไทยพร้อมจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ ในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการเกษตรในพื้นที่สูง ต่อลาว เมียนมา นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการผนึกกำลังระดับประเทศแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างได้โดยเร็ว/