ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองผู้อำนวยการ กลุ่ม ยุทธศาสตร์กำลังคนในระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แห่งชาติ (สอวช.) ให้เกียรติมาบรรยาย เรื่องบทบาทสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต่อการจัดการศึกษาในอนาคตของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษาสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี ดร.สุนทรี รัตภาสกร รองอธิการบดีสายบริหารและบริการการศึกษาและประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา สสอท. เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย ดร.มัทนา สานติวัตร อุปนายกสภา และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพให้การต้อนรับ ณ อาคาร Tourism Tower มหาวิทยาลัยกรุงเทพ**ในภาพ ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย ยืนคู่กับ ดร.มัทนา สานติวัตร
เมืองไทยประกันชีวิตจัดงาน “MTL Bancassurance Kick Off 2025” ก้าวข้ามทุกลิมิต เพื่อพิชิตเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน
นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นประธาน จัดงาน “MTL Bancassurance Kick Off 2025” ภายใต้ธีม “Breakthrough Our Limits From Good to Great” ก้าวข้ามทุกลิมิตเพื่อพิชิตเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน เพื่อปลุกพลังให้เต็มเปี่ยม พร้อมก้าวข้ามทุกขีดจำกัด ขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จและการเติบโตที่แข็งแกร่ง ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งมอบความสุขและรอยยิ้มที่ยั่งยืน ภายในงานยังได้มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ในปี 2568 แก่ผู้บริหารและฝ่ายขายช่องทางธนาคาร หรือ Bancassurance ทั่วประเทศ โดยมีนายเคียม เคียว โฮ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส นายเกศพงศ์ นาทะสิริ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และผู้บริหารบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ร่วมในงาน ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา
เงินหมื่นดิจิทัลเฟส 3 เตรียมแจกกลุ่ม 16-20 ปี ปลายไตรมาส 2
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมีติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 3 ผ่านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 16-20 ปี จำนวนรวม 2.7 ล้านคน โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินถึงมือได้ภายในปลายไตรมาส 2 ปีนี้ หรือต้นไตรมาสที่ 3 ปีพ.ศ.2568
สำหรับสาเหตุที่แจกเงินดิจิทัลเฟส 3 ให้กับกลุ่มคนช่วงอายุนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มดังกล่าวยังอยู่ในวัยเรียน สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้ คาดว่ากระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีมาก ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่เกือบทั้งหมด เน้นใช้จ่ายกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งร้านค้าสามารถขึ้นเงินสดได้ ไม่เน้นเฉพาะร้านค้าเสียภาษีเท่านั้น
รายงานข่าวเปิดผยว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงิน 10,000 บาทโครงการเงินดิจิทัล เฟส 3 ประกอบด้วย
- เป็นผู้ที่ไม่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการหรือโครงการอื่นๆ ของรัฐ
- บุคคลสัญชาติไทย
- อายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ก่อนวันที่ 16 กันยายน 2567)
- เป็นผู้ที่ไม่มีรายได้เกิน 840,000 บาท (สำหรับปีภาษี 2566)
- ไม่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567)
- ไม่อยู่ระหว่างการต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
- ไม่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการหรือโครงการอื่น ๆ ของรัฐ
รู้เก็บรู้ออม : TSD Counter Services โฉมใหม่
เวลาที่เราเปลี่ยนสถานะตัวเองจากนักลงทุนมาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ต้องมีการติดต่อเพื่อใช้บริการจาก TSD ในการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งการฝาก ถอน และโอนหุ้น ขณะที่ TSD ก็จะดูแลติดต่อกับผู้ถือหุ้น ทั้งการส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น หนังสือแจ้งนำเงินปันผลเข้าบัญชีธนาคาร หนังสือรับรองการหักภาษี เป็นต้น
TSD ย่อมาจาก Thailand Securities Depository Company Limited หรือบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการบริการที่ต่อเนื่องของการซื้อขายหลักทรัพย์และยังทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์เพื่อดูแลและจัดการทะเบียนหลักทรัพย์ รวมทั้งให้บริการข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์สำหรับผู้ถือหุ้น โดยมีการรวบรวม ประมวลผลและเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยหายห่วง
“คุณนายพารวย” เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง ที่ต้องใช้บริการของ TSD จึงเห็นการพัฒนาและยกระดับบริการของ TSD ในการอำนวยความสะดวกกับผู้ถือหุ้น ให้ทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็วปลอดภัย อย่างบริการ e-service เช่น ตรวจสอบข้อมูลการถือครองหลักทรัพย์ บริการขอออกใบหุ้นและเช็คใหม่ กรณีใบหุ้นสูญหาย, บริการส่งเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-document) เช่น หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น และเอกสารประกอบการประชุม ตัดปัญหาเรื่องผู้ถือหุ้นไม่ได้รับเอกสารที่ส่งทางไปรษณีย์ หรือทำเอกสารหาย
ล่าสุด TSD ได้ปรับปรุง TSD Counter Services โฉมใหม่ เปิดให้บริการตั้งแต่ 3 มี.ค.68 โดยเพิ่มช่องบริการให้มากขึ้น กว้างขวาง เป็นสัดส่วนเพื่อความเป็นส่วนตัว สร้างความมั่นใจในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ของผู้ถือหุ้น รวมทั้งรองรับผู้สูงอายุและผู้ใช้บริการที่มีรถเข็นวีลแชร์อีกด้วย
โดย TSD Counter Services โฉมใหม่ จะสามารถรองรับจำนวนผู้ถือหุ้นที่ใช้บริการเพิ่มขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ภายในปีหน้า 2569 TSD จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลยืนยันตัวตนด้วย Biometrics มาให้บริการ ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
นอกจากเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่ให้บริการฝาก ถอน โอนใบหุ้น และออกใบหุ้นใหม่/เช็คใหม่ TSD ยังมีบริการธุรกรรมระบบดิจิทัล ผ่าน Investor Portal อีกหนึ่งช่องทางที่ www.set.or.th/th/tsd/services/investors/e-services/investor-portal เช่น แก้ไขข้อมูลในฐานทะเบียนผู้ถือหุ้น สมัครหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล e-Dividend, ตรวจสอบยอดหุ้น, เงินปันผล, ยื่นภาษีกับสรรพากรได้สะดวกรวดเร็ว โดยดาวน์โหลดและส่งไฟล์ข้อมูลภาษีผ่านออนไลน์เป็นต้น
ผู้ถือหุ้นที่ต้องการใช้บริการ TSD Counter Services เพียงนำบัตรประชาชน Smart Card ใบเดียวมาติดต่อที่ TSD Counter Services ชั้น 1 อาคาร B ตลาดหลักทรัพย์ฯและจองคิวออนไลน์ล่วงหน้าผ่าน www.set.or.th/tsdcounter ได้ 24 ชม. เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (เว้นวันหยุดตามประกาศตลาดหลักทรัพย์ฯ) สามารถตรวจสอบบริการของ TSD ได้ที่ www.set.or.th/th/tsd หรือ SET Contact Center 0-2009-9999.
“คดีกลุ่ม” ปลาหมอคางดำ ยังไม่ใช่การชี้ชัดความผิด
ในยุคที่ข้อมูลไหลทะลักด้วยความเร็วและโซเชียลมีเดียกลายเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็น ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคดีปลาหมอคางดำจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นล่าสุด เมื่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อนุญาตให้ดำเนินคดีในรูปแบบคดีกลุ่ม
คดีแบบกลุ่ม (Class Action) ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนในการฟ้องร้องรายบุคคลสูงเกินกว่าที่ผู้เสียหายจะดำเนินการได้ ยกตัวอย่าง คดีปลาหมอคางดำ ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพิ่งมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ เท่ากับกฎหมายเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบสามารถรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับองค์กรเอกชน
หลักเกณฑ์การพิจารณาคดีแบบกลุ่มมีความซับซ้อนโดยศาลต้องพิจารณาว่า “คดีนี้เข้าเงื่อนไขของการเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่” เช่น มีผู้เสียหายจำนวนมาก ได้รับความเสียหายคล้ายคลึงกันและการฟ้องแบบกลุ่มจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการฟ้องรายบุคคล เป็นต้น ซึ่งศาลก็มีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา
แต่ประเด็นที่หลายคนเข้าใจผิดคือคำว่า “ศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่ม” ถูกตีความไปว่า “ศาลตัดสินแล้วว่าเอกชนผิด” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะในความเป็นจริงการอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เป็นเพียงการพิจารณาเชิงขั้นตอนว่าคดีนี้เหมาะสมจะใช้กระบวนการพิเศษนี้หรือไม่ โดยที่ยังไม่มีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน หรือวินิจฉัยว่าใครผิดหรือถูกแต่อย่างใด ขณะเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลได้ ส่งผลให้คำสั่งศาลของศาลอุทธรณ์ยังมีความสำคัญต่อการดำเนินการคดีในอนาคต ซึ่งก็คงใช้เวลาอีกไม่น้อย
คำถามที่ยังค้างคาใจคือ “ปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่นี้มีต้นทางจากเอกชนรายนี้จริงหรือไม่?” ขณะที่ปัญหาการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังในประเทศไทย และความซับซ้อนของปัญหานี้ไม่อาจตัดสินเพียงแค่จากการวิพากษ์วิจารณ์หรือกระแสในโลกออนไลน์ได้ แต่ควรอาศัยการพิสูจน์จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การพิสูจน์ที่มีอยู่ในศาลจะช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นในประเด็นที่คลุมเครือ
หลักฐานจึงถือเป็นหัวใจของคดี ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ในศาล ในขณะที่ผู้ติดตามข่าวสารจึงควรอดใจรอผลการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมก่อนที่จะตัดสินเสียเอง การพิจารณาหลักฐานควรตั้งอยู่บนความเป็นจริงและหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกหรือความคิดเห็นส่วนตัว
ความท้าทายของทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยที่จะพิสูจน์ความเชื่อมโยงทางวิทยาศาสตร์ระหว่างการดำเนินการของบริษัทกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ควรอาศัยการตรวจสอบดีเอ็นเอ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม และการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับนิเวศวิทยา นอกจากนี้เราต้องระลึกว่าความแม่นยำและความโปร่งใสในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นเมื่อมีการชี้นำจากกระแสต่างๆ จะนำไปสู่อคติและลดทอนความไม่เป็นธรรมในสังคม ดังนั้น ในฐานะผู้ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารของคดีนี้ทุกคนไม่ควรด่วนสรุป แต่ควรรอให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปจนถึงที่สุด และควรเข้าใจว่าเส้นทางสู่ความจริงเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา.
“หลวงพ่อเงินพิมพ์นิยม องค์นางเลิ้ง”
ตามรอยเซียน โดย เจี๊ยบ บางกรวย
อาทิตย์ก่อนเฮียเชียรเจ้าของร้านบะหมี่รุ่งเรืองนางเลิ้ง ส่งหลวงพ่อเงินมาในไลน์ ถ้าแท้ลงให้หน่อยนะ เซียนเจี๊ยบดูแล้วแท้เลย หลวงพ่อเงินพิมพ์นิยมเอ แท้นะเฮียเลยเอามาให้เพื่อนๆชม
เฮียเชียรเล่าแกเอาหลวงปู่ทวดพิมพ์ใหญ่ไหล่จุด 2497 แลกไป ชอบหลวงพ่อเงินมากกว่า ค้าขายดี จะได้เฮงรวยปัง เฮียเชียรว่า เราก็ดูร้านแกขายดีมาก มีเงินเยอะตามความเชื่อศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อเงิน แต่จริงๆแล้วบะหมี่ไข่แกอร่อยเส้นเล็กเหนียวนุ่ม ข้าวขาหมู ข้าวหมูแดงหมูกรอบก็อร่อยรสเยี่ยมเลย ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ปอเปียะ ก๋วยเตี๊ยวหลอด แกใจดีขายถูกให้เยอะ เจ้าเก่าแก่นางเลิ้ง ออกไปหลายรายการดังๆ นายกหลายท่านก็ไปกิน ลูกค้าเยอะ


ยิ่งมีหลวงพ่อเงินด้วยรวยแล้วยิ่งรวยกันเข้าไปใหญ่
มาดูหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยม”องค์นางเลิ้ง”ของเฮียเชียรร้านบะหมี่รุ่งเรือง องค์นี้ขี้เบ้าอยู่เต็ม เนื้อออกเหลืองแกมน้ำตาล เกร็ดกระดี่ขึ้น เป็นตัวชี้ในการดูหลวงพ่อเงินว่าเก่าแท้ โลหะหลอมละลายไม่เท่ากัน เห็นเม็ดตาและฟัน แจ่มมากเก่าธรรมชาติ มีตำหนินิดเดียวตรงปากติดไม่เต็ม แต่ทำให้ดูง่าย แท้ตาเปล่า หลังเหยี่วย่น คราบขี้เป้าน้ำตาลดำ เกาะตามซอกแขนองค์พระหน้าหลัง แบบนี้จำไว้เลย หลวงพ่อเงินวัดบางคลาน โลหะร้อยปียังงัยก็ต้องมีเหยี่วย่นนะ ถ้าเจอแบบนี้อย่าปล่อยให้หลุดมือนะจ๊ะ
หาหลวงพ่อเงิน มาใช้กันนะ จะได้มีเงิน รวยรวย เฮงเฮงเหมือนเฮียเชียรบะหมี่รุ่งเรืองนางเลิ้ง
ปลาหมอคางดำยังควบคุมได้ กรมประมงยังคงดำเนินการป้องกันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยได้รับการยืนยันจากกรมประมงในทุกจังหวัดสามารถควบคุมได้ ปริมาณประชากรปลาหมอคางดำมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการดำเนินมาตรการจัดการปัญหาที่แสดงถึงความเป็นจริงจังและมุ่งผลเป็นรูปธรรม โดยกรมประมงยังคงดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง
ในปีนี้ กรมประมงได้เน้นการใช้ปลานักล่าช่วยลดจำนวนปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมการแปรรูปปลาเพื่อเพิ่มมูลค่าและช่วยเกษตรกรในการกำจัดปลาในบ่อเพาะเลี้ยง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศและคืนความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ชุมชน

ข้อมูลจากอธิบดีกรมประมง ยืนยันว่าจากการร่วมมือของหน่วยงานรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนอย่างจริงจังในการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ส่งผลให้พบว่าปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่การระบาดลดลงจาก 19 จังหวัดเหลือเพียง 17 จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดปราจีนบุรีและพัทลุงที่แทบไม่พบปลาเลย
ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานประมงในจังหวัดที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ และจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงได้ดำเนินการตาม 7 มาตรการหลัก พร้อมบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อให้การจัดการปัญหาครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ และการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ยังถือเป็นแรงเสริมที่ช่วยให้การกำจัดปลาหมอคางดำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โครงการแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นอาหาร เพิ่มมูลค่าปลาเป็นสินค้าชุมชน ตลอดจนการปล่อยปลานักล่าพื้นถิ่น เช่น ปลาอีกงและปลากะพงขาว เพื่อช่วยกำจัดปลาหมอคางดำขนาดเล็กและป้องกันการแพร่ระบาด และเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศ ช่วยให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ กรมประมงยังให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบเปิด ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” “กองทุนกากชา” และ “กองทุนปลากะพง” เป็นต้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการจัดการปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับจังหวัดที่พบปลาหมอคางดำ อย่างจังหวัดตราด จังหวัดพัทลุงแม้ยังไม่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ แต่มีการสำรวจสม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนสู่สภาพที่สมดุล แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับชุมชนและเกษตรกร.
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นการทบทวนการกำกับดูแลการขายชอร์ต และ HFT ถึง 31 มี.ค. นี้
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนที่ใช้บังคับในปี 2567 เช่น มาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต มาตรการกำกับดูแล HFT และการกำหนด Minimum Resting Time (MRT) นั้น เพื่อให้มาตรการกำกับดูแลเหมาะสมกับสภาวะการซื้อขายในปัจจุบัน โดยยังคงให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจัดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น “การทบทวนการกำกับดูแลการขายชอร์ต และ HFT” ดังนี้
1. มาตรการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์กรณีราคาหลักทรัพย์ลดลงอย่างมาก
ทบทวนมาตรการ Uptick สำหรับการขายชอร์ต
ให้ใช้เกณฑ์ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) เป็นรายหลักทรัพย์ในวันทำการถัดไป เมื่อราคาปิดของหลักทรัพย์ใดมีราคาลดลงตั้งแต่ 10% เมื่อเทียบกับราคาปิดของวันทำการก่อนหน้า แทนการใช้เกณฑ์ Uptick กับทุกหลักทรัพย์ (กรณีปกติให้ใช้เกณฑ์ Zero-Plus Tick) เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต และสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ
2. มาตรการกำกับดูแลความผันผวนในหุ้นขนาดกลางและเล็ก
2.1 ทบทวนหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ขายชอร์ตได้ และผู้ลงทุน HFT สามารถซื้อขายได้
กำหนดหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ขายชอร์ตและหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุน HFT สามารถซื้อขายได้เพียงเฉพาะหุ้นใน SET100 ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง โดยยกเลิกหุ้นที่มี Market Cap. ³ 7,500 ล้านบาท
2.2 ยกเลิกการกำหนด Minimum Resting Time (MRT) เนื่องจากเมื่อได้กำหนดให้ผู้ลงทุน HFT ซื้อขายหลักทรัพย์ได้เฉพาะหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงแล้ว มาตรการ MRT จึงไม่มีความจำเป็นอีก เนื่องจากโดยปกติการใส่-ถอนในเวลาอันสั้นมักจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพการซื้อขายในหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง
การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายละเอียดบนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ https://www.set.or.th/th/rules-regulations/market-consultation หัวข้อ “การทบทวนการกำกับดูแลการขายชอร์ต และ HFT” สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ https://forms.gle/jmocr6Fz68zKcJVW9 จนถึง 31 มีนาคม 2568
ASF ปัจจัยเพิ่มต้นทุนเลี้ยงหมู ถึงเวลายกระดับระบบป้องกันโรค Biosecurity สร้างอาหารมั่นคง-ปลอดภัย
บทความ โดย ศิระ มุ่งมะโน นักวิชาการอิสระ
การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชีย ผู้เลี้ยงสุกรไทยต้องแบกต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะต้องปรับตัวเพิ่มการลงทุนยกระดับการเลี้ยงสู่ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) เพื่อการจัดการและดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรค โดยการลดความเสี่ยงของการนำเชื้อโรคเข้ามาสู่ฟาร์ม รวมถึงการกระจายของเชื้อโรคภายในและออกจากฟาร์ม เพื่อผลิตเนื้อสัตวปลอดภัยและอาหารมั่นคงสำหรับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน
รัฐบาลไทยควรเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงสุกรไทยลงทุนในมาตรการป้องกันโรค ใช้มาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบสุขภาพสุกร การกำจัดสุกรที่ติดเชื้อ และการฆ่าเชื้อสถานที่และอุปกรณ์ทั้งหมด การสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF ให้ประสบความสำเร็จได้การรับรองตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งในฟาร์ม
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์สุกรที่ต้านทานต่อโรคสูง และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถช่วยในการจัดการฟาร์มช่วยลดความเสี่ยงจากโรค ASF รวมถึงการปรับปรุงระบบการจัดการฟาร์มตามมาตรฐานไบโอซีเคียวริตี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและราคาเนื้อหมู
ทั้งโรคระบาด ASF และโรคระบาดสัตว์อื่นๆ ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตด้านมาตรการป้องกันโรคของเกษตรกรสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อลดความเสี่ยงและช่วยให้การควบคุมโรคทำได้ดี ซึ่งต้นทุนดังกล่าวส่งผลโดยตรงราคาเนื้อหมูที่ต้องปรับขึ้นตามหลักการกลไกตลาด (Demand-Supply) และจำเป็นต้องสื่อสารถึงความจำเป็นและสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้สังคมและผู้บริโภคเข้าใจ
ปัจจุบันยังมีรายงานว่า โรค ASF ยังคงระบาดทั่วทั้งภูมิภาคเอเซีย และประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม ทำให้ไทยจำเป็นต้องป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มงวด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยรายงานของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าต้นทุนสุกรมีชีวิตของฟาร์มมาตรฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 75-77 บาทต่อกิโลกรัม แต่สำหรับเกษตรรายเล็กและรายย่อยสูงถึง 80-85 บาทต่อกิโลกรัม และยังเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงหากไม่มีระบบป้องกันโรคที่ดี
ดังนั้น การจัดทำแผนเฝ้าระวังและควบคุมโรค รวมถึงการฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับการป้องกันโรค ASF เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในการจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นในปี 2565 ที่ไทยประกาศพบโรคนี้ระบาดในฟาร์มสุกรที่จังหวัดนครปฐม และทำให้ราคามีชีวิตหน้าฟาร์มพุ่งสูงขึ้นไปเกินกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม และยังทำให้หมูในประเทศขาดแคลนและราคาสูงมาก ที่สำคัญการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงของการระบาด และส่งเสริมความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย.
ไบโอซีเคียวริตี้ ระบบป้องกันโรคทางรอดเกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญชี้ช่วยป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ผล
รศ.น.สพ.ดร. มานะกร สุขมาก ผู้อำนวยการศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโรคระบาดในสัตว์ โดย 2 โรคระบาดสำคัญในสัตว์ ได้แก่ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และ โรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นโรคสำคัญในสัตว์ปีก

สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เป็นโรคระบาดในสุกรที่มีความรุนแรงสูง สุกรที่ป่วยเป็นโรคนี้ อัตราการตาย 100% และยังเป็นโรคที่ทนทานในสิ่งแวดล้อม มักปนเปื้อนไปกับผู้ปฏิบัติงาน เช่น รองเท้าบูท เสื้อผ้า รถขนส่งสุกร จึงเป็นเชื้อที่จัดการยาก ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีวัคซีน และไม่มียารักษา ทำให้ยากที่จะควบคุม
ในขณะที่ โรคไข้หวัดนก แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่พบรายงานพบการระบาดเพิ่มเติม แต่ด้วยเป็นโรคที่ติดจากสัตว์สู่คน จึงเป็นอีกโรคที่ต้องเฝ้าระวัง และติดตามการพบโรค พบว่าบุคคลที่สัมผัสสัตว์ปีกป่วยหรือซากสัตว์ปีกที่ตายจากการติดเชื้อนี้ จะมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับเชื้อ

สำหรับมาตรการป้องกันโรคของไทย แบ่งออกเป็นระดับประเทศ และระดับเกษตรกร โดยภาครัฐ อย่างกรมปศุสัตว์มีมาตรการที่เข้มงวดในการคัดกรองเชื้อโรคก่อนที่จะนำสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เข้าสู่ประเทศ อีกทั้งมีการกำหนดมาตรฐานฟาร์มในการกำกับดูแลอยู่แล้ว ซึ่งในระดับประเทศถือว่าเข้มข้น ด้านมาตรการป้องกันโรคในระดับฟาร์ม เกษตรกรจะเพิ่มเรื่องระบบไบโอซีเคียวริตี้ หรือความปลอดภัยทางชีวภาพ รวมถึงเรื่องชีวอนามัยในส่วนของตัวผู้ปฎิบัติงาน ถ้าปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด ก็สามารถป้องกันโรคได้ในระดับดี
รศ.น.สพ.ดร. มานะกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการตรวจวินิจฉัยโรค ระบบไบโอซีเคียวริตี้ หรือแม้กระทั่งเรื่องของวัคซีน ซึ่งไม่ได้ใช้เพียงในฟาร์มขนาดใหญ่ แต่บางเทคโนโลยีเริ่มมีการนำมาใช้ในฟาร์มขนาดเล็กด้วย หรือแม้กระทั่ง AI ที่มีการนำมาใช้ในการตรวจความเจ็บป่วยของสัตว์ เช่น จับอัตราการไอของสุกรในโรงเรือน เพื่อประเมินการป่วย หรือติดกล้องอินฟาเรด มอนิเตอร์สุกรว่ามีไข้สูงผิดปกติหรือไม่ โดยมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ
ในอดีตอาจมองว่า ระบบไบโอซีเคียวริตี้จะนำไปใช้เฉพาะในฟาร์มขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันเกษตรกรรายกลางรายเล็กมีการเรียนรู้และปรับปรุงระบบให้ดีมากยิ่งขึ้น แม้ในฟาร์มขนาดเล็กบางฟาร์มที่มีจำนวนสุกรไม่มาก ก็สามารถใช้ไบโอซีเคียวริตี้ ในการควบคุมป้องกันโรค ASF จนไม่มีการติดเชื้อเลย นับเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ที่ทำให้ฟาร์มของตนอยู่รอด ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบกับฟาร์มอื่น กล่าวได้ว่า เมื่อเข้าใจระบบไบโอซีเคียวริตี้ฟาร์มขนาดไหนก็สามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา
นอกจากนี้ ในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี ยังพบว่าตัวเกษตรกรเองเป็นผู้ที่พยายามขวนขวายหาเทคโนโลยีมาใช้ ต้องขอชื่นชมเกษตรกรไทยที่ทั้งเก่งและไม่ได้หยุดอยู่กับที่ มีความพยายามหาองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้ แม้ในบางเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง เกษตรกรที่มีความรู้ก็สามารถนำมาประยุกต์ดัดแปลงใช้ในราคาที่ไม่แพงและนำมาใช้ได้จริงในฟาร์มของตน
ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐ อย่างกรมปศุสัตว์ หรือ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลโรคสัตว์ รวมถึงภาคเอกชน ก็จะคอยลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจ และจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรอยู่เป็นประจำ ส่วนเกษตรกรเองก็สามารถขอข้อมูลองค์ความรู้จากภาครัฐได้ โดยติดต่อหน่วยงานในพื้นที่
เกษตรกรไทย ถือว่ามีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการยกระดับการป้องกันโรคในสัตว์ เป็นฟันเฟืองหลักที่จะช่วยป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้ประเทศไทยปลอดภัย ปลอดโรค ขอเพียงต้องตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มขนาดไหนก็อยู่รอดได้เหมือนกัน.