FSMART อวดตัวเลขกำไรสุทธิ 464 ล.​ จ่ายปันผล 0.60 บาท​

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ​ FSMART​ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งหลังของปี 2563 อีกหุ้นละ 0.30 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายจากกำไรสุทธิงวดผลดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563 เมื่อรวมกับงวดครึ่งแรกของปีที่จ่ายไปแล้วหุ้นละ 0.30 บาท ส่งผลให้ปี 2563 บริษัทจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 8.4 % โดยล่าสุดราคาหุ้นของบริษัทซื้อขายที่ระดับ 7.10 บาทต่อหุ้น และถือว่าเป็นการจ่ายปันผลที่สูงกว่านโยบายที่กำหนดไว้ว่าจะจ่ายไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ โดยบริษัทจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 98% ของกำไรสุทธิ ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 21 เมษายน 2564 โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (Record Date) ในวันที่ 10 มีนาคม 2564 และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เมษายน 2564

สำหรับผลดำเนินงานปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 464.06 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.61 บาท ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้ง 2 ระลอกทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมลดลงส่งกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และนโยบายภาครัฐช่วยเหลือค่าโทร ค่าน้ำ ค่าไฟ ฟรีในไตรมาส 2 แต่กระทบระยะสั้น จึงทำให้มูลค่าเติมเงินรวมของบริษัทลดลง

“ปี 2563 ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ผลการดำเนินงานของบริษัทยังสามารถมีกำไรต่อเนื่อง เพราะตู้บุญเติมมีบริการที่ครบวงจรทั้งเติม-จ่าย-ฝาก-โอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ โดยปี 2563 มีปริมาณธุรกรรมในธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ จำนวน 1.5 ล้านรายการต่อวัน ขณะที่กลุ่มธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร (Banking Agent & Lending Business) ที่เป็นบริการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนรายการโอนเงินล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 65% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือประมาณ 1.9 ล้านรายการต่อเดือน 19 ล้านรายการต่อปี และยังคงเติบโตต่อเนื่อง”

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ทิศทางของ FSMART ปี 2564 บริษัทยังเดินหน้าธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก คือ 1. ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ 2. ธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร 3. ธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้า โดยมีเป้าหมายเพิ่มยอดการใช้บริการผ่าน “ตู้บุญเติม” ให้มีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 20% จากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงบริษัทมีการเปิดช่องทางและบริการใหม่ ภายใต้งบลงทุน 500 ล้านบาท อีกทั้งเพิ่มตู้รูปแบบใหม่อีก 5,000 ตู้ในปีนี้ เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดและเข้าไปทดแทนตู้ของคู่แข่งที่มีบริการน้อยกว่า และแนวโน้มจำนวนตู้ที่ลดลงในภาพรวมของอุตสาหกรรม ทั้งยังดันแคมเปญ “บุญเติม รีวอร์ด” สร้างการรับรู้ รักษาลูกค้า เพิ่มจำนวนการใช้งาน

ด้านการบริหารจัดการตู้บุญเติม เน้นทำเลคุณภาพ เพื่อเพิ่มยอดเติมเงินและชำระเงิน, ธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร​ ตั้งเป้าเปิดตัวตู้ Mini ATM ที่สามารถถอนเงินสดจากตู้ได้ อีกทั้งเดินหน้าเพิ่มบริการธุรกิจสินเชื่อด้วยการหาพันธมิตรใหม่และใช้ตู้ Mini ATM ปล่อยสินเชื่อ นอกเหนือจากบริการฝาก โอน จ่าย เปิดบัญชี และบริการพิสูจน์ตัวตนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ที่มีอยู่แล้ว

นอกจากนี้​ บริษัทจะเข้าไปเป็นตัวแทนธนาคารเพิ่มทั้ง Bank และ Non-bank ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้ตู้บุญเติมมีบริการทางการเงินครบวงจรและเป็นธนาคารชุมชนทดแทนสาขาและตู้ ATM ที่ลดลงของธนาคารพาณิชย์ พร้อมทั้งเพิ่มฐานลูกค้าชาวต่างชาติและบริการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดจะเป็นส่วนผลักดันที่สำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดการทำรายการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าในปีนี้ในส่วนของธุรกิจ Banking Agent & Lending Business จะเติบโตได้ประมาณ 30% จากปีก่อน และจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องจาก Ecosystem ของบริการทางการเงินที่ครบวงจร

สำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้า บริษัทเตรียมเปิดตัว “คาเฟ่อัตโนมัติ” ภายใต้แบรนด์ “เต่าบิน” ชูนวัตกรรมเครื่องชงเครื่องดื่มคุณภาพพรีเมี่ยมกว่า 80 เมนู ด้วยเมล็ดกาแฟและวัตถุดิบคุณภาพสูง จุดเด่นคือ สามารถควบคุมรสชาติได้มาตรฐานเดียวกันทุกแก้ว ชงได้ทั้งเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ในราคาที่คุ้มค่า และบริการ 24 ชม. ในทำเลคุณภาพ คาดว่าจะเปิดตัวเต็มรูปแบบในปีนี้ โดยมีเป้าหมายขยายจุดติดตั้ง 20,000 เครื่อง ภายใน 3 ปี คาดขาย 600,000 แก้วต่อวัน เสริมความแข็งแกร่งการให้บริการของบริษัทให้มากขึ้น และทุกตู้มีบริการของตู้บุญเติม ซึ่งบริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม