รายงานข่าว เปิดเผยว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พัฒนาระบบการทำงานเพื่อให้บุคลากรสามารถให้บริการฉีดวัคซีนภาคสนามได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขนาดของพื้นที่รวมถึงขั้นตอนการทำงานที่อาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม อีกทั้งช่วยลดขนาดจำนวนทรัพยากรด้านบุคลากรทั้งทีมงานสนับสนุนและบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติการ ที่เรียกว่า “วัคซีนแพลตฟอร์ม” โดยเริ่มต้นทดสอบและใช้จริงในจุดฉีดวัคซีนภาคสนาม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปแล้วกว่า 120,000 โดส โดยดำเนินการรวมเพียง 20 วัน สำหรับเข็มแรก และล่าสุดกับการฉีดให้แก่ผู้พิการกว่า 4,000 คน ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกว่าอีก 5,000 คนในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 วันแม่แห่งชาติ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิบายว่า “การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนภาคสนามมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีระบบที่จะเข้ามาช่วยให้การทำงานของฝ่ายต่างๆ เกิดประสิทธิภาพและมีกระบวนการรายงานจัดการข้อมูลให้ราบรื่น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราได้ร่วมกับ AIS ในการพัฒนาวัคซีนแพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อให้การทำงานภาคสนามในการดูแลให้บริการประชาชนในการฉีดวัคซีนเกิดความคล่องตัวและรองรับการฉีดวัคซีนต่อวันให้ได้มากที่สุด
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจุดฉีดวัคซีนภาคสนาม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีระบบการทำงานที่ค่อนข้างลงตัว เราไม่ได้มีเครื่องคอมพิวเตอร์มากมาย ไม่ได้มาเดินสายหรือติดตั้งระบบที่วุ่นวาย แต่เราใช้การทำงานผ่านแพลตฟอร์มบนเครื่องแท็บเล็ตโดยบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ทำให้ขั้นตอนการฉีดวัคซีนตั้งแต่การลงทะเบียนยืนยันตัวตนตามมาตรฐานไปจนถึงการติดตามผลและนัดหมาย ไปจนถึงการส่งต่อข้อมูลผู้ฉีดวัคซีนเข้าสู่ฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขมีความคล่องตัว ในท้ายที่สุดทั้งประชาชนคนไทยที่มาใช้บริการ บุคลากรทางการแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็ต่างได้รับผลประโยชน์สูงสุด การเดินหน้าเป้าหมายการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศก็จะสำเร็จลุล่วงได้”
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “การทำงานสนับสนุนภาคสาธารณสุขภายใต้แนวคิด เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อคนไทย มากกว่าการสนับสนุนสัญญาณเครือข่าย ภายในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และจุดฉีดวัคซีนแล้ว เรายังใช้ศักยภาพขององค์กรในการสร้างสรรค์ Digital Service มาสนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขในมิติต่างๆ อีกด้วย
ครั้งนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมด้านสาธารณสุขที่จะมายกระดับการฉีดวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้นก็คือ วัคซีนแพลตฟอร์ม ที่พัฒนาร่วมกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยใช้แนวคิดแบบ Modular Design หรือการออกแบบขั้นตอนการทำงานภายในแพลตฟอร์มให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถขยายแพลตฟอร์มและการทำงานของระบบให้รองรับกับจุดฉีดวัคซีนภาคสนามอื่นๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กรองรับระดับ 100 คน หรือขนาดใหญ่ที่รองรับได้มากกว่า 10,000 คนก็ตาม ซึ่งการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ของเราและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการนำวัคซีนแพลตฟอร์มมาใช้ในภาคสนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำให้ภารกิจที่จุดฉีดวัคซีนภาคสนาม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้กับบุคลากรภายในและภายนอกประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”
และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ร่วมกับ AIS ได้ให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) แก่ประชาชนผ่าน “วัคซีนแพลตฟอร์ม” สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการกว่า 5,000 คน ณ ลานกิจกรรม ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ยิ่งเป็นการยืนยันความพร้อมของระบบที่สามารถบริหารจัดการในรูปแบบศูนย์วัคซีนภาคสนามเพื่อรองรับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนไทยในทุกพื้นที่
สำหรับนวัตกรรม “วัคซีนแพลตฟอร์ม” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจนในการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการทำงานของภาคสาธารณสุขของไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ AIS และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่มีความต่อเนื่องในการทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าวัคซีนแพลตฟอร์มนี้จะเป็นต้นแบบในการนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป้าหมายการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับคนไทยได้สำเร็จ