ซีพีเอฟ-ประมงสมุทรปราการ-ราชทัณฑ์ ยกระดับปลาหมอคางดำสู่ “น้ำปลาหับเผย” ของดีคู่ครัวไทย

0

กรมประมง เดินหน้าบูรณาการทุกภาคส่วนภาครัฐ เอกชน ชุมชน ดำเนินการมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ แปรรูปเป็น “น้ำปลา” ที่ประมงสมุทรปราการ จับมือกับ เรือนจำกลางสมุทรปราการ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกัน หมักน้ำปลา ใช้ชื่อ “หับเผยสมุทรปราการ” เป็นเครื่องปรุงรสที่ทุกบ้านต้องมี พร้อมถ่ายทอดเป็นทักษะอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เป็นแนวทางกำจัดปลาอย่างสร้างสรรค์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ ช่วยชุมชน และสร้างรายได้ให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต

สมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่บริโภคได้ สามารถแปรรูปได้หลากหลายเมนู การนำมาหมักเป็นน้ำปลาเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับปลาหมอคางดำ และช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ “น้ำปลา” เป็นของที่อยู่ทุกครัวเรือน สามารถขยายผล สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนได้ เป็นแนวทางการกำจัดปริมาณปลาหมอคางดำที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งชุมชนและระบบนิเวศ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่สมุทรปราการลดลง จากการประเมินโดยหน่วยงานหลักของกรมประมงในปัจจุบันปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในพื้นที่สมุทรปราการอยู่ในระดับปานกลาง เป็นผลจากการดำเนินการตามมาตรการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำของกรมประมงอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ การจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” อย่างต่อเนื่อง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติและนำมาใช้ประโยชน์ นอกจากนำมาหมักเป็นน้ำปลา สมุทรปราการยังร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรปราการรับซื้อปลาหมอคางดำสำหรับทำเป็นน้ำหมักชีวภาพในจำนวน 50,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ สมุทรปราการยังร่วมมือกับซีพีเอฟดำเนินโครงการ “กองทุนปลากะพง” เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

วิชา ม่วงจินดา เจ้าพนักงานอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญงาน เรือนจำกลางสมุทรปราการ กล่าวว่า เรือนจำจะนำ “น้ำปลา” มาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารสำหรับสวัสดิการเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขัง กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ผู้ต้องขังเองได้แสดงศักยภาพ มีส่วนร่วมกับสังคมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และยังมีความรู้วิธีการหมักน้ำปลาสามารถใช้เป็นอาชีพเลี้ยงตนเองหลังจากพ้นโทษ และในอนาคตจะต่อยอดส่งน้ำปลาให้หน่วยงานตรวจรับรองคุณภาพและความสะอาด นำออกมาจำหน่ายเป็นสินค้า “หับเผยสมุทรปราการ”

กิจกรรมหมักน้ำปลาจากปาหมอคางดำและฝึกทักษะอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง เป็นแนวทางบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมประมง กรมราชทัณฑ์ และซีพีเอฟ ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 ใน 4 แห่ง ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และสมุทรปราการ โดยประมงสมุทรสงครามกำลังนำ “น้ำปลา” ขวดแรกส่งให้กรมประมงตรวจรับรองคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อเป็นต้นแบบสินค้าอาหารจากปลาหมอคางดำ เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาส สร้างสินค้าตัวใหม่ ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของท้องถิ่น.