บทความ โดย นรชาติ สรงอินทรีย์ นักวิชาการอิสระด้านสัตว์น้ำ
กรณี “ปลาหมอคางดำ” เป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ในแวดวงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักวิชาการและนักกฎหมาย ที่ต่างออกมาเรียกร้องความชัดเจนเรื่องการนำเข้าสายพันธุ์ปลาชนิดนี้ โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบต่อระบบนิเวศและความถูกต้องตามกฎหมาย แต่ท่ามกลางกระแสและแรงกดดันจากสังคม สิ่งที่ยัง ‘ขาดหายอย่างสิ้นเชิง’ คือ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ได้การรับรองจากหน่วยงานกลางที่ไม่มีใครนำมาตีแผ่ เช่น พันธุกรรมของพันธุ์ปลา การตรวจสอบความถูกต้องบริษัทผู้ส่งออกปลาหมอคางดำ ตลอดจนขบวนการลักลอบนำเข้าปลาต่างถิ่นต้องห้าม
3 ประเด็นสำคัญดังกล่าว ยังไม่มีคำอธิบาย ไม่มีการพิสูจน์ และไม่มีใครรับผิดชอบ ขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องค่าชดเชยดังกว่าหลักฐานที่จำเป็นต้องนำมาแสดง เพื่อพิสูจน์ของความบริสุทธิ์ของแต่ละฝ่าย จนถึงขณะนี้หลักฐานเดียวที่ค้นพบจากหน้าสื่อคือ เอกสารขออนุญาตนำเข้าสายพันธุ์ปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาของบริษัทเอกชน ที่ได้รับการอนุญาตจากกรมประมง จึงมีคำถามกลับว่า สังคมไทยกำลังยึดหลักวิทยาศาสตร์ หรือแค่ไหลไปตามความแรงของกระแส?
ใครก็ตามที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดและมองด้วยความเป็นธรรมทั้งด้านบวกและลบ จะพบว่ามี 3 ประเด็นสำคัญที่สังคมไทยควรตั้งคำถาม และเรียกร้องคำตอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อค้นหา “ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้” คือ
1. ปลาหมอคางดำที่พบในธรรมชาติ ยังไม่มีการพิสูจน์และรับรอง DNA ว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่บริษัทเอกชนนำเข้าถูกต้องจริงหรือไม่? เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานการวิเคราะห์ DNA จากนักพันธุกรรมผู้เชี่ยวชาญ หรือสถาบันกลางที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศหรือสากล ว่า “ปลาหมอคางดำ” ที่ขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อการวิจัย กับปลาที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นสายพันธุ์เดียวกัน มาจากแหล่งเดียวกันกับที่บริษัทเอกชนได้รับอนุญาตให้นำเข้าอย่างถูกต้อง
การพูดรวมๆ เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นว่าปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดขณะนี้กับที่ได้รับอนุญาตนำเข้าเป็นสายพันธุ์เดียวกัน โดยไม่มีการเปรียบเทียบพันธุกรรมกับตัวอย่างอ้างอิงจากแหล่งต้นทาง เป็นการข้ามขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ และขาดความน่าเชื่อถือของกระบวนการตรวจสอบทั้งหมด
2. เหตุใดจึงสอบสวนเพียง 6 จาก 11 บริษัทส่งออก ระหว่างปี 2556–2559 แต่ด่วนสรุปโดยไม่มีคนผิด? เพราะ
แม้กรมประมงจะชี้แจงว่าเป็นการกรอกเอกสารส่งออกผิดพลาด แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยเอกสารการส่งออกตัวจริงทั้งหมด และไม่มีการตรวจสอบและสอบสวน “ครบทั้ง 11 บริษัท” แต่ตีขลุมอนุมานว่าเป็นความผิดลักษณะเดียวกันทั้งหมด ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดข้อกังขาได้ และหากไม่มีอะไรต้องปิดบัง เหตุใดไม่เปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน?
3. ปลาต่างถิ่นต้องห้ามหลายชนิดยังพบในตลาด แต่ไร้การสอบสวน เช่น กรณีของปลาหมอบัตเตอร์ ปลาหมอมายัน ปลาช่อนอเมซอน ปลาซัคเกอร์ ซึ่งเป็นปลาต่างถิ่นห้ามนำเข้า ยังคงพบการจำหน่ายและเลี้ยงในหลายพื้นที่ แต่กลับไม่มีการสอบสวนที่มาหรือการดำเนินคดีอย่างจริงจัง สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงควรตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มอนุรักษ์ ว่าเหตุใดจึงยกประโยชน์ให้ปลาดังกล่าวได้
เมื่อ “บางกรณี” ถูกจับตาอย่างเข้มงวด แต่อีกหลายกรณีกลับถูกมองข้าม ย่อมสร้างคำถามว่า เราใช้ “มาตรฐานเดียวกัน” ในการคุ้มครองระบบนิเวศจริงหรือไม่? การตั้งคำถาม และการออกมาเรียกร้องจากภาคประชาชน และกลุ่มนักอนุรักษ์เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องตั้งอยู่บน “หลักฐาน” ไม่ใช่ “ข้อกล่าวหาโดยไม่มีการพิสูจน์” อย่างโปรงใส
หากมีข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลการนำเข้า หรือพฤติกรรมการกระจายพันธุ์ของปลาที่กล่าวอ้าง ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมแนบผลตรวจทางวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานกลางที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้สังคมตัดสินจาก “ข้อเท็จจริง” ไม่ใช่ “ความรู้สึก”
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานนั้น ร้ายแรงไม่แพ้การลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำผิดกฎหมาย สังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้ข้อกล่าวหากลายเป็นความจริงโดยไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์ และต้องยืนหยัดบนหลักวิทยาศาสตร์และความโปร่งใส เพื่อรักษาทั้งระบบนิเวศ และความยุติธรรมในสังคมไปพร้อมกัน.