หมอแนะหยุดกินหมูดิบ ป้องโรคไข้หูดับ ชวนคนไทยกินหมูปรุงสุกเท่านั้น

0

แพทย์ แนะ ไข้หูดับ ป้องกันได้ เพียงกินหมูต้องปรุงสุก และแยกอุปกรณ์เนื้อหมูสุก-ดิบ เลือกซื้อเนื้อหมูที่มีคุณภาพ จากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ พร้อมย้ำ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบีบมะนาว และการกินยาถ่ายพยาธิ ไม่สามารถป้องกันและฆ่าเชื้อโรคในอาหารได้

พญ. นวรัตน์ เจริญถาวรโภคา แพทย์เฉพาะทางสาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า “ไข้หูดับ” เป็นโรคติดต่อจากหมูสู่คน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis: S. suis) ที่พบเฉพาะในหมู โดยไม่พบในสัตว์ชนิดอื่นๆ และไม่มีรายงานพบการติดเชื้อจากคนสู่คน

พญ. นวรัตน์ เจริญถาวรโภคา

ผู้ป่วยที่พบส่วนมากได้รับเชื้อจากการรับประทานเนื้อหมูดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ และ เลือดหมู ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุกอย่างถูกลักษณะ และปนเปื้อนเชื้อ หรือติดเชื้อจากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีแผล รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงหรือจัดการหมู ทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และ พ่อค้าแม่ค้าเนื้อหมู โดยการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 14 วันหลังการรับประทานหมูดิบ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะมีระยะฟักตัว 3-4 วัน จึงเริ่มแสดงอาการ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดที่ผิวหนัง คอแข็ง ชักเกร็ง ซึมลง หมดสติ เมื่อเชื้อผ่านระบบภูมิคุ้มกันของระบบประสาทเข้าสู่สมอง เกิดการติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งอยู่ใกล้กับหูชั้นใน เชื้อสามารถลุกลามไปบริเวณหูชั้นในบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้มีอาการหูได้ยินลดลง อาจไปถึงเกณฑ์หูหนวก หรือเกิดสูญเสียการทรงตัว

ทั้งนี้ หากเข้ารับการรักษาไม่ทัน อาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับวิธีการรักษาจำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ให้ยาฆ่าเซื้อทางหลอดเลือดดำ และให้ยารักษาอาการของผู้ป่วย เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ทั้งนี้เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาหายแล้ว แต่หากกลับไปกินหมูดิบ หรือสัมผัสเชื้อจนได้รับเชื้อก็สามารถกลับมาติดโรคนี้ได้อีกครั้ง

สำหรับพฤติกรรมการบริโภคเมนูเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ ส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมในการบริโภค โดยประเทศไทยพบมากที่ภาคเหนือและอีสาน ที่ชื่นชอบการบริโภคเนื้อหมูดิบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรค

อีกทั้งยังมีความเชื่อในกลุ่มนักดื่ม ที่เชื่อว่าแอลกอฮอลล์ในเครื่องดื่มจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง การดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่อาจเพิ่มทวีคูณความรุนแรงของโรคได้ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มเป็นประจำจนถึงขั้นเป็นโรคตับแข็ง จะมีภูมิคุ้มกันไม่ดี การรับเชื้อเข้าไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้การติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดและไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้หูดับ เช่น การกินยาถ่ายพยาธิ จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ ความจริงแล้ว ยาถ่ายพยาธิไม่สามารถป้องกันหรือขับเชื้อแบคทีเรียออกจากร่างกายได้ ขณะที่ยังมีอีกหนึ่งความเชื่อที่ว่าการบีบมะนาว จะช่วยฆ่าเชื้อโรค แต่ความจริงคือเป็นเพียงการบีบกรดลงบนเนื้อสัตว์ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีไม่สามารถทำลายเชื้อโรคได้

พญ. นวรัตน์ ย้ำถึงผู้บริโภคว่า โรคไข้หูดับ เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุก และมาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน แยกอุปกรณ์ที่ใช้กับเนื้อหมูดิบ เช่น เขียง มีด ตะเกียบ ส่วนอาชีพที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสหมู เช่น เกษตรกร โรงชำแหละ ผู้จำหน่าย รวมถึงผู้ประกอบอาหาร แนะนำให้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ หน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหมูที่ป่วยหรือตาย และหลังทำงานเสร็จทุกครั้งต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่

ทั้งนี้ เพียงผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายของโรค สาเหตุการเกิดโรค และการป้องกันโรค จะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้ ส่วนอาชีพที่ต้องทำงานเกี่ยวกับหมู ควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการและให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคมากขึ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้.