บทความ โดย เอมอร อัมฤก นักวิชาการอิสระ
แม้เทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์จะพัฒนาไปมากเพียงใด แต่ “โรคระบาดในสุกร” ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ยังบั่นทอนความมั่นคงของอุตสาหกรรมสุกรไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โรคระบาดทั้งในฟาร์มขนาดใหญ่และฟาร์มรายย่อยกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงพุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การป้องกันโรคสุกรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่ใช่แค่เรื่องทางเทคนิคของสัตวแพทย์อีกต่อไป แต่กลายเป็น “ความจำเป็นพื้นฐาน” ที่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อาหารต้องตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดส่งผลกระทบต่อการผลิต การตลาด และความปลอดภัยของอาหารที่เราบริโภคในแต่ละวัน

สำหรับโรคระบาดในสุกรที่เป็นความเสี่ยงในประเทศไทยยังมีอีกหลายโรคและบางโรคยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการส่งออก เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease : FMD) โรคอหิวาต์สุกร (Classical Swine Fever : CSF) โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน (African Swine Fever : ASF) โรคติดเชื้อ PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) โรคติดเชื้อ E.coli (Colibacillosis) และโรคพยาธิในกล้ามเนื้อ (Trichinosis) ซึ่งโรคเหล่านี้ก่อให้เกิดความสูญเสียโดยตรง ทั้งด้านการเจริญเติบโต อัตราการรอดชีวิต ไปจนถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจของเกษตรกร และระบบอาหารของประเทศ
หลายคนมองว่าการลงทุนในระบบป้องกันโรค เช่น การติดตั้งรั้ว ระบบฆ่าเชื้อ ควบคุมคนเข้าออก การฝึกอบรมพนักงาน หรือจ้างสัตวแพทย์ประจำฟาร์ม เป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริง นี่คือ “ต้นทุนที่จำเป็น” เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเข้าฟาร์ม ซึ่งเมื่อเทียบกับความเสียหายหากเกิดการระบาดแล้ว ถือว่า “คุ้มค่ากว่ามาก” เพราะเป็นการป้องกันโรคเพื่อความปลอดภัยของอาหาร
ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) จึงเป็นหัวใจหลักของการเลี้ยงสุกรยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มขนาดเล็กหรือใหญ่ การป้องกันโรคต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบฟาร์มให้ปลอดภัย มีระบบรั้ว ประตู และทางเข้าออกที่ควบคุมได้การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เปลี่ยนชุด-รองเท้า ก่อนเข้าเขตเลี้ยงสัตว์ การควบคุมรถขนส่ง อุปกรณ์ และสัตว์พาหะ การจัดการน้ำใช้ อาหาร และของเสียในฟาร์ม
นอกจากนี้ การติดตามและตรวจประเมินฟาร์มอย่างสม่ำเสมอยังเป็นแนวทางปฎิบัติที่สำคัญ โดยมี สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม เป็นผู้ดูแลระบบ ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง ให้คำแนะนำ และตรวจสอบสุขภาพสัตว์อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อสุกรมากขึ้น ทั้งด้านกายภาพ (ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เข็มฉีดยา เศษโลหะ) ด้านเคมี (ไม่มีสารตกค้าง) และด้านชีวภาพ (ปลอดเชื้อโรค)
ซึ่งการทำฟาร์มสุกรหรือฟาร์มปศุสัตว์จะเริ่มต้นไม่ได้เลย หากฟาร์มต้นทางยังมีการระบาดของโรคอยู่ ดังคำกล่าวฟาร์มไร้โรค คือพื้นฐานของ “อาหารปลอดภัย”
การผลิตเนื้อสุกรปลอดภัยต้องวางแผนตั้งแต่ต้นทาง มีการควบคุมการใช้ยา วัคซีน การหยุดยาอย่างถูกต้อง ตลอดจนการดูแลสุขลักษณะของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันปัญหาการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ซึ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันหยุดวงจรโรคระบาด เริ่มที่เกษตรกร ต้องตื่นตัวและยกระดับการจัดการฟาร์มให้ปลอดโรค ภาครัฐ ต้องสนับสนุนความรู้ การเฝ้าระวัง และการควบคุมโรคเชิงรุก และผู้บริโภค ควรเข้าใจที่มาของอาหาร และสนับสนุนฟาร์มที่ผลิตอย่างปลอดภัย เพราะการแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกรไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราต้องร่วมมือกันทั้งระบบ เพื่อให้การผลิตอาหารของประเทศไทย “ปลอดภัย และยั่งยืน” อย่างแท้จริง./