บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนกรมประมง และประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ครั้งที่ 3 ร่วมเปิดปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำในพื้นที่ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร พร้อมทั้งสาธิตการนำปลาใช้ประโยชน์ทั้งการทำพิซซ่าหน้าปลา และสอนน้องๆ นักเรียนทำน้ำหมักชีวภาพสำหรับใช้กับแปลงผักอินทรีย์ของโรงเรียน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานในกิจกรรมลงแขก-ลงคลอง ครั้งที่ 3 จับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ณ คลองสาขา ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงนครศรีธรรมราช นายอำเภอหัวไทร หน่วยงานราชการในพื้นที่ กรมราชทัณฑ์ การยางแห่งประเทศไทย สถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรม และผู้นำชุมชน นำอวนและแหมาช่วยกันจับปลาออกจากแหล่งน้ำ และเปิดจุดรับซื้อปลาที่จับได้เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยโดยมี ซีพีเอฟ สนับสนุนเครื่องมือจับสัตว์น้ำ อาหาร และน้ำดื่มให้ผู้ร่วมงานกว่า 200 คน
กิจกรรมในวันนี้ อธิบดีกรมประมง ร่วมสังเกตการณ์การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำให้แก่น้องๆ นักเรียนโรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร และสาธิตการทำเมนูพิซซ่าหน้าเนื้อปลาพร้อมกับเกษตรกรจากฟาร์มสุขมี เกษตรกรหนึ่งไร่โมเดล นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาที่ดินยังจัดสาธิตวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำให้นักเรียนได้นำไปทำเองที่โรงเรียนสำหรับใช้กับแปลงปลูกผักอินทรีย์ของโรงเรียนต่อไป
ปลาที่จับได้ในวันนี้ 1,780 กิโลกรัมซึ่งประมงจังหวัดส่งต่อให้กับสำนักพัฒนาที่ดินผลิตน้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งแบ่งให้กรมราชทัณฑ์ทำอาหารให้กับผู้ต้องขัง และมอบให้โรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชรผลิตน้ำหมักชีวภาพ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชสร้างการมีส่วนร่วมภาครัฐ – ชุมชน – เอกชน ในการจัดการปลาหมอคางดำ โดยมุ่งนำออกไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้มากที่สุด สร้างความตระหนักให้ชาวบ้านและเยาวชนได้ตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือกันป้องกันการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด โดยเฉพาะ การทำน้ำหมักชีวภาพ รวมถึง การแปรรูปเป็นอาหารเมนูต่างๆ เพื่อที่จะหยุดยั้งการแพร่กระจายปลาชนิดนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซีพีเอฟร่วมมือกับกรมประมงดำเนินโครงการเชิงรุกในการกำจัดปลาหมอคางดำใน 12 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี นครปฐม รวมทั้งในชุมพร สุราษฎร์ธาน และนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้แล้วมากกว่า 10,000 กิโกกรัม และบริษัทยังเดินหน้าร่วมกับกรมประมงเพื่อช่วยกันลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำไห้น้อยลงมากที่สุด คืนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศให้กับแหล่งน้ำในจังหวัด นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังให้ได้สนับสนุนปลานักล่ารวมแล้ว 64,000 ตัวแก่ประมงสมุทรสงคราม ประมงสมุทรสาคร ประมงจันทบุรี และประมงระยอง ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ
ซีพีเอฟร่วมบูรณาการกรมประมงจัดการปัญหาปลาหมอคางดำขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุก ประกอบด้วย โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาเพื่อทำปลาป่น 2,000,000 กิโลกรัม ยังเปิดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง โครงการปล่อยปลานักล่า 200,000 ตัว รวมถึง โครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรกรศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำปลาไปใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และโครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อตัดวงจรและควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ในระยะยาว.