ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือที่รู้จักในชื่อว่า ตลาดหุ้น นั้น ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่เพื่อการลงทุนของนักลงทุนจำนวนมาก
เมื่อมีผู้เล่นลงสนามลงทุนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ และนักลงทุน จึงมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง
ปัญหาการตกแต่งงบการเงินและเปิดเผยข้อมูลไม่จริงของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ในช่วง 1–2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลเสียหายต่อการลงทุน ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่าคงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการยกเครื่องกฎกติกามารยาทครั้งใหญ่ ทั้งหลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติต่างๆ
“ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์ฯ พูดถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นในการยกระดับเกณฑ์กำกับดูแลใน 5 มิติ ที่จะครอบคลุมตั้งแต่ 1.กระบวนการ Listing ปรับปรุงคุณสมบัติบริษัทที่ขอจดทะเบียนทั้งใน SET และ Mai ไม่ว่าจะเป็น New Listing, Backdoor Listing รวมถึงการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trading) จะต้องผ่านการพิจารณาในลักษณะเดียวกัน
2.กระบวนการ Ongoing Obligations ให้เข้มงวดเพิ่มขึ้น แต่ไม่เป็นภาระกับ บจ.มากเกินไป โดยจะเพิ่มสัญญาณเตือนให้ผู้ลงทุนที่มากขึ้น ปรับปรุงเงื่อนไขการขึ้นเครื่องหมาย C ในกรณีของบริษัทที่มีรายได้น้อย ขาดทุนติดต่อหลายปี ผิดนัดชำระหนี้ ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน มีปริมาณถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือฟรีโฟลตน้อย
3.กระบวนการ Trade Surveillance ด้วยการเพิ่มระบบตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ ซึ่ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯและสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยอยู่ระหว่างร่วมกันจัดตั้ง “Securities Bureau” ที่จะช่วยให้รู้สถานะของลูกค้า เช่น วงเงินโดยรวมของทุกสมาชิก ช่วยให้โบรกเกอร์วิเคราะห์ความเสี่ยงได้ดีขึ้น
4.กระบวนการ Delisting ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเพิ่มเหตุในการถูกเพิกถอน และความเข้มงวดในการกำกับดูแลบริษัทที่เข้าข่าย
และ 5.กระบวนการ Escalation to Public โดยเพิ่มเหตุของการเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย C (Caution) และอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มเติมในการแยกเครื่องหมาย C ตามเหตุที่แตกต่างกันที่จะช่วยบ่งบอกถึงความเข้มข้น
ส่วนการกำกับซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามใช้มาตรการจากเบาไปหนัก เห็นได้จากกรณีหุ้นไอพีโอ หรือกรณีที่มีความผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะใช้วิธีให้ข้อมูลกับนักลงทุน เพื่อใช้พิจารณาประกอบตัดสินใจซื้อขาย, การให้ บจ.ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อมีข้อมูลบางอย่างที่ส่งสัญญาณเตือนภัย, การออกข่าวเตือนกรณีหุ้นมีการซื้อขายที่ผิดปกติ และการสั่งให้หยุดพักซื้อขายชั่วคราว
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นความพยายามครั้งสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งกระบวนการ ให้เหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ ให้การซื้อขายเป็นไปอย่างเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นธรรม.
คุณนายพารวย
ที่มา คอลัมน์ "รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง" หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ