นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ผู้เลี้ยงสุกรอยากขอร้องให้ทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ที่เห็นชอบโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร และให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลราคาสุกรอย่างจริงจัง รวมถึงแนวทางการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ปี 2566 เพื่อต่อชีวิตผู้เลี้ยงหมูให้สามารถขายหมูได้ในราคาที่เป็นธรรม
“ผู้เลี้ยงสุกร ขอให้กรมปศุสัตว์และกรมการค้าภายใน เร่งตั้งคณะทำงานที่มีผู้เกี่ยวข้องจากทุกฝ่ายทั้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกร และผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่ของการจำหน่ายเนื้อสุกรทั้งหมด มาร่วมหารือเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ คือ ผู้เลี้ยง เป็นการด่วนเพราะขาดเงินทุนหมุนเวียนเป็นเวลานาน หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ ผู้เลี้ยงหมูคงต้องเลิกกิจการแน่” นายพิพัฒน์ กล่าวและเสริมว่า ภาครัฐสามารถเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วได้โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้ Pig Board ยังเห็นชอบให้ขยายผลระบบฐานข้อมูล Big Data ด้านปศุสัตว์ โดยขยายขอบเขตการใช้งานสู่สาธารณะ เปิดโอกาสให้ผู้เลี้ยงสุกรของไทยสามารถใช้งานร่วมกันได้ทั้งระบบ สนับสนุนการกำหนดราคาขายสุกรมีชีวิตตามโครงสร้างต้นทุนการผลิต เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพราคา ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มตกต่ำหนักขณะนี้ คือ กลไกราคาถูกบิดเบือนเนื่องจากการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” มาแทรกแซงตลาด ซึ่งขายในราคาต่ำกว่าหมูไทยมาก ส่งผลให้เกษตรกรขายหมูขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ขาดเงินทุนหมุนเวียนอย่างหนัก จำเป็นต้องขายหมูในราคาที่ขาดทุนให้พ่อค้าเพื่อนำเงินมาบริหารจัดการฟาร์ม
นายนิพัฒน์ กล่าวว่า หลังไทยเริ่มควบคุมโรคระบาด ASF ได้ ผู้เลี้ยงสุกรมีความมั่นใจมากขึ้นในการนำหมูเข้าเลี้ยงหวังสร้างอาหารปลอดภัยและมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคของคนไทย แต่ต้องประสบปัญหาหลายด้านต่อเนื่อง เริ่มจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารปรับสูงขึ้นจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ ตามด้วยปัญหา “หมูเถื่อน” ที่การปราบปรามเริ่มจริงจังช่วงปลายปี 2565 ทำให้ราคาในประเทศบิดเบือน อีกทั้งมีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจำนวนมาก ในช่วงที่ผลผลิตหมูไทยจากการฟื้นฟูฟาร์มออกสู่ตลาด ยิ่งกดให้ราคาต่ำลง
“ปัจจุบันราคาประกาศหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 64-66 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้จริงประมาณ 54-60 บาท เท่านั้น ขณะที่ต้นทุนสูงประมาณ 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรพยายามทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดทั้งยอมจับหมูขนาดเล็ก หรือ จับหมุออกขายก่อนกำหนด ไปทำหมูหันและหมูย่าง เพื่อความอยู่รอด” นายนิพัฒน์ กล่าว