บทความ โดย ศิระ มุ่งมะโน นักวิชาการอิสระ
“ดราม่า” ไข่ไก่แพง สืบทอดกันมาทุกยุคทุกสมัยจนกลายเป็นหนึ่งในดัชนีการเมืองวัดความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้นๆ จึงไม่แปลกใจถ้าได้ยินเสียงบ่นอื้ออึงสร้างกระแสเป็นช่วงๆ เช่นเดียวกับรัฐบาลชุดใหม่ที่โดนรับน้องตั้งแต่ยังไม่แถลงนโยบายต่อสภา “ไข่…เศรษฐา แพงทะลุ 5 บาท” โดยกล่าวว่าราคาขายปลีกไข่ไก่อยู่ที่ฟองละ 5.10 บาท หากเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงหรือผู้ค้าไข่ไก่ จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของการค้าตามกลไกตลาด เพราะต้องบวกค่าใช้จ่ายจากฟาร์มไปจนถึงจุดจำหน่าย ซึ่งต้องผ่านตัวกลางหลายทอดและขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ
ก่อนอื่น ต้องยอมรับความจริงว่า “ไข่ไก่” เป็นอาหารมหาชนที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดและราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับโปรตีนชนิดอื่น ไข่ไก่จึงเป็นอาหารที่คนทุกเพศ ทุกวัย นิยมบริโภคเพราะหาซื้อง่ายที่สุด ทำอาหารได้ง่ายที่สุด ไม่ว่าจะ ไข่ต้ม ไข่ทอด ไข่ลวก เมื่อมีการปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มแม้เพียง 10 สตางค์ ก็จะมีเสียงบ่นตามมา “ขึ้นอีกแล้ว…จะแพงไปถึงไหน” เพราะเราเอาราคาวันนี้ไปเทียบกับราคาในอดีต หรือแม้แต่ในช่วง 2-3 ปีผ่านมาก็ตาม ในวันเวลาดังกล่าวราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงาน และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ไม่ได้ดีดตัวแรงเป็นประวัติการณ์เหมือนในช่วงปีที่ผ่านมา
วันนี้ ผู้เลี้ยงไข่ไก่แบกต้นทุนการผลิตสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 4 บาทต่อฟอง เกือบเท่ากับราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ฟองละ 4 บาท และไม่เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นราคาที่ผู้แทนจาก 4 สมาคมไก่ไข่ 4 สหกรณ์ไก่ไข่ พร้อมใจกันยืนหยัดราคานี้ไว้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้บริโภคในช่วงเศรษฐกิจขาลง “ผู้บริโภคอยู่ได้ ผู้เลี้ยงฯอยู่ได้”
คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ในฐานะผู้กำกับดูแลโครงสร้างต้นทุนการผลิตไข่ไก่ และรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ รายงานว่าต้นทุนการผลิตเดือนกันยายน 2566 เพิ่มขึ้น 13% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยอาหารสัตว์คิดเป็นต้นทุน 74% ของต้นทุนทั้งหมด
ย้อนไป สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ปี 2554 ราคาขายปลีกไข่ไก่ฟองละ 4-4.10 บาท จนถึงสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เฉลี่ยราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 3.20-4 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่อเนื่องถึงรัฐบาล “เศรษฐา 1” โดยราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 5- 5.10 บาทต่อฟอง (เบอร์ 0) ขณะที่ไข่เบอร์ 3 ราคาเฉลี่ยฟองละ 4.70-4.80 บาท เห็นได้ว่าราคาไข่ไก่มีการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังมีความเสี่ยงกับปัจจัยแวดล้อมหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ราคาพลังงานและการป้องกันโรคระบาด เป็นต้น
วัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญเป็นสัดส่วน 60% ของต้นทุนการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาธัญพืชและวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นมากกว่า 30% ในปี 2565 โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในสูตรอาหารสัตว์ ปรับราคาสูงเป็นประวัติการณ์ จาก 9-10 บาท เป็น 13.50 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าปัจจุบันจะปรับลดลงบ้างแต่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวสูงต่อเนื่อง
ไข่ไก่ เป็นอาหารประชานิยม หากพิจารณาจากต้นทุนและราคาที่เกษตรกรขายได้แล้ว นับว่าเป็นราคาที่ “ปริ่มๆ” มีกำไรเพียงเล็กน้อยเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยง ไม่ใช่เฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงาน ป้จจัยการผลิตอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม อากาศ ภัยพิบัติ โรคระบาด ที่เหนือการควบคุม ที่ทำให้เกิดความเสียหายได้ทั้งฟาร์มในครั้งเดียว ซึ่งต่างกับสินค้าอุตสาหกรรมที่สามารถควบคุมขบวนการผลิตได้ดีกว่า จึงอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจภาระและความลำบากของผู้เลี้ยงไก่ไข่ก่อนตัดสินใจว่า “ไข่ไก่แพง”