บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ต่อยอดความสำเร็จ 20 ปี โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรจากฟาร์มสุกร สู่ธุรกิจไก่ไข่ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำยั่งยืน ส่งต่อน้ำปุ๋ยจากระบบไบโอแก๊สในฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ บำรุงต้นพืชแก่เกษตรกรรอบข้าง ปี 2565 ปันน้ำปุ๋ย 111,000 ลูกบาศก์เมตร บนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 115 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้กับชุมชน
นายสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาทุกธุรกิจของบริษัทต่างมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดห่วงโซ่การผลิต ลดของเสียในกระบวนการผลิต รวมถึงการเปลี่ยนของเสียให้กลับมาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเฉพาะความสำเร็จจากธุรกิจสุกรที่ดำเนินโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรรอบข้าง มานานกว่า 20 ปี ต่อยอดสู่ธุรกิจไก่ไข่ ด้วย “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” โดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่ หรือไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานประกอบการนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการเพาะปลูก ในปี 2565 ที่ผ่านมาฟาร์มสันกำแพง จ.เชียงใหม่ และฟาร์มหนองข้อง ฟาร์มจะนะ จ.สงขลา ดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปันน้ำปุ๋ยรวมกว่า 111,000 ลูกบาศก์เมตร ให้กับเกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกหญ้าเนเปีย ข้าวโพด ฟักทอง และสวนปาล์ม รวมพื้นที่กว่า 115 ไร่ ช่วยให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี โดยในปี 2566 ดำเนินโครงการฯ เพิ่มเติมที่ฟาร์มจักราช และฟาร์มอุดรธานี ขยายพื้นที่ปันน้ำปุ๋ยอีก 60 ไร่ สำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง
“ซีพีเอฟ มุ่งเน้นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพตลอดกระบวนการผลิต ขณะเดียวกันยังใช้ระบบไบโอแก๊สในการ บำบัดของเสียเปลี่ยนมูลไก่เป็นไบโอแก๊ส เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มไก่ไข่ โดยในกระบวนการจะได้กากตะกอน รวมถึงน้ำหลังการบำบัดซึ่งปกติไม่ปล่อยออกสู่ภายนอก หรือ Zero Discharge จะใช้หมุนเวียนในการผสมกับมูลไก่ในระบบไบโอแก๊สอีกครั้ง จึงไม่ต้องใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ และนำน้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมรดน้ำต้นไม้ในฟาร์ม ที่ผ่านมามีเกษตรกรทำหนังสือขอรับน้ำเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูก ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้กับชุมชน และมีเกษตรกรขอรับกากตะกอนไปใช้ในการปรับสภาพดินก่อนการปลูกพืช พบว่าเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น และช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี” นายสมคิด กล่าว
ด้าน นายจักกฤษนณ์ โสพิกุล เกษตรกร ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ที่ขอรับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มหนองข้อง ไปใช้รดต้นปาล์มบนพื้นที่ 3 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2565 กล่าวว่า โครงการนี้ดีมาก น้ำปุ๋ยเป็นปุ๋ยชีวภาพอย่างดี สามารถปล่อยลงในร่องสวนปาล์มได้ทันที หลังจากทดลองพบว่าช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน ในน้ำปุ๋ยมีแร่ธาตุอยู่ทำให้ผลผลิตปาล์มดีขึ้น ทะลายเพิ่ม ทะลายไม่ขาดคอ ลูกดก ลูกออกสม่ำเสมอ ได้น้ำหนักเพิ่ม ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้มากกว่า 50% มีการเสริมปุ๋ยบางตัวเพื่อให้ได้ธาตุอาหารครบ ขอบคุณซีพีเอฟที่จัดโครงการฯดีๆเช่นนี้
ส่วน นายหล๊ะ ดุไหน เกษตรกร ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา เกษตรกรต้นแบบที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มจะนะ กล่าวว่า น้ำปุ๋ยช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ 40-50% โดยใช้ในแปลงปลูกหญ้าเนเปีย 10 กว่าไร่ สำหรับให้วัวเนื้อที่เลี้ยงไว้ จึงไม่ต้องจัดหาหญ้าจากแหล่งอื่น ช่วยลดค่าอาหารวัวได้ และยังใช้ในสวนปาล์มอีก 10 ไร่ พบว่าต้นปาล์มฟื้นตัวดี ให้ผลผลิตดี ส่วนฟักทองที่ปลูกอกี 10 ไร่ ซึ่งปกติใช้น้ำในบึง หลังจากใช้น้ำปุ๋ยแนวโน้มผลผลิตดีเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มาก นำไปขายสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี จึงจะขยายการใช้ในพื้นที่อีก 10 ไร่
ซีพีเอฟ บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการนำหลักการ 3Rs มาบริหารจัดการน้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต ด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ (Reduce) นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายความยั่งยืน “CPF 2030 Sustainability in Action” สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)