รู้เก็บรู้ออม : ผู้ประกอบการทางสังคมในรั้วอุดมศึกษา

ที่มา คอลัมน์รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดทุนของไทยให้เกิดความยั่งยืน เห็นได้จากการดำเนินกลยุทธ์ตามกรอบกำหนดกรอบการพัฒนาทั้ง 5 ด้าน คือ การสร้างคุณค่าตลาดทุน การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน การพัฒนาและดูแลพนักงาน การพัฒนาและดูแลสังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อม

ด้านการพัฒนาและดูแลสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯมีส่วนสำคัญในการสร้างแหล่งความรู้ทางการเงินสำหรับคนไทยทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงได้ โดยดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปี กระจายความรู้ไปสู่ประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่เยาวชน นักศึกษา คนทำงาน ผู้ประกอบการ และผู้เกษียณวัย มีการพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหา และรูปแบบของหลักสูตรให้เหมาะกับแต่ละกลุ่ม พร้อมช่องทางการเรียนการสอนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจนกิจกรรมการให้ความรู้ต่างๆ

และล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯขยายขอบเขตการให้ความรู้เรื่องผู้ประกอบการเพื่อสังคมไปสู่คนรุ่นใหม่ โดยร่วมมือกับเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย (Thai GE Network) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างผู้ประกอบการทางสังคม ผ่านมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นครั้งแรก!!

การจับมือร่วมกันครั้งนี้ เป็นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมต่อไป ด้วยการยกร่างวิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” และบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2566

ความร่วมมือนี้อยู่ภายใต้ “โครงการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมในระดับอุดมศึกษา Social Enterprise (SE) @General Education (GE)”

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ บอกว่า โครงการนี้เป็นการขยายองค์ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้กับคนรุ่นใหม่ในระบบการเรียนรู้ สร้างจุดตั้งต้นความคิดในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปลูกฝังทัศนคติให้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรากฐานของการประกอบธุรกิจ สร้างศักยภาพการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต

เปรียบได้กับการกลัดกระดุมให้ถูกตั้งแต่เม็ดกระดุมแรก เพื่อช่วยปูพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมให้นักศึกษา ปลูกฝังความเข้าใจในคุณค่าของความยั่งยืน

ในปีการศึกษา 2566 นักศึกษาจะได้เรียนเนื้อหาวิชาที่ประกอบด้วยหัวข้อหลัก ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความยั่งยืน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม การออกแบบโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม การวัดผลลัพธ์ทางสังคมเบื้องต้น และการสร้างแผนธุรกิจเบื้องต้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีส่วนสำคัญในการจัดทำคู่มือและสื่อประกอบการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปสอน เปิดอบรมให้กับอาจารย์ เพื่อสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา ตลอดจนเดินสายไปตามสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมการออกแบบหลักสูตร และเรียนรู้เนื้อหาตลอดปี 2566

มหาวิทยาลัยที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ www.setsocialimpact.com/impact-program/se-ge/

คุณนายพารวย