ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ และ AIS ร่วมกันทำงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึง กสทช. เข้าจับกุมมิจฉาชีพ ทลายแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ โดยตรวจค้น 8 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ในพื้นที่ เขตบางนา ห้วยขวาง และลาดพร้าว พร้อมตรวจยึดหลักฐานเครื่องสัญญาณ IP PBX ที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือในการฉ้อโกงประชาชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 กรกฎาคม 2565)
ล่าสุด ช่วงค่ำวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นจุดกระจายสัญญาณแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ โทรหลอกผู้เสียหาย 14 จุด ในพื้นที่ ตำบลหนองปลาไหล อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ เครื่อง IP PBX 101 เครื่อง (ซึ่งสามารถโทรแบบอัตโนมัติ ได้เต็มประสิทธิภาพ วันละ 1,616,000 ครั้ง หรือ เดือนละ 48.48 ล้านครั้งต่อเดือน) พร้อมรวบผู้ดูแลดำเนินคดี และจะขยายผลไปสู่ผู้จ้างวานต่อไป จากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทำให้สะท้อนถึงการทำงานเชิงรุก เจอ จับ จริง ตั้งเป้าปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพ
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้สั่งการให้ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 นำโดย พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผบก.สอท. พร้อมด้วย พ.ต.อ.เอกนิรุจฒิ์ วันสิริภักดิ์ ผกก.4 สอท.1 ได้นำกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ เข้าตรวจค้นขยายผลกระจายสัญญาณแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ IP PBX (Internet Protocol Private Branch Exchange) ซึ่งร่วมการ สนับสนุนข้อมูลทางด้านเทคนิคของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการภูมิภาค ภาคตะวันออก AIS และ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ กสทช.(พระพาย) จำนวน 5 นาย
โดยผลการตรวจค้น จำนวน 14 จุด 16 ห้องพัก สามารถตรวจยึดเครื่อง IP PBX จำนวน 101 เครื่อง, router WiFi จำนวน 46 เครื่อง และ พบผู้ต้องสงสัยที่ดูแลสถานที่ดังกล่าวได้ 1 ราย ซึ่งจะควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และนําเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14(1) มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร” ต่อไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
จุดที่ 1 หอพักไม่ทราบชื่อ ห้อง b7 ชั้น 2 บ้านเลขที่ 3/17 หมู่ 7 ต.หนองปลาไหล อ.บางละมุงจังหวัดชลบุรี พบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi ใส่ซิม 2 เครื่อง
ที่ 2 บ้านเลขที่ 39/2 ห้องเลขที่ 6 หมู่ 7 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
จุดที่ 3 บ้านเลขที่ 37 หมู่ 7 ห้อง 22 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
จุดที่ 4 หอพักกาละแม ห้องเลขที่ 8 บ้านเลขที่ 45 หมู่ 8 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
จุดที่ 5 หอพักพัชรินทร์ บ้านเลขที่ 29/34 หมู่ 7 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 5 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
ที่ 6 บ้านเลขที่ 61 หมู่ 9 ซอยข้างตลาดอรรถพร ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
จุดที่ 7 แหวนประดับอพาร์ทเม้นท์ ชั้น 2 ห้อง 09 บ้านเลขที่ 9/6 หมู่ 8 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
จุดที่ 8 บ้านเลขที่ 76/5 ซอยสุขสมบูรณ์ หมู่ 8 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
จุดที่ 9 บ้านเลขที่ 167/5 หมู่ 8 ห้อง 4 ซอยสุขสมบูรณ์ ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 9 เครื่อง router WiFi 5 เครื่อง
จุดที่ 10 บ้านเลขที่ 56/28 บ้านพักหนองเกตุ ห้อง b3 ตรวจพบ IP PBX 8 เครื่อง router WiFi 4 เครื่อง, ห้อง b6 ตรวจพบ IP PBX 8 เครื่อง router WiFi 4 เครื่อง
จุดที่ 11 บ้านเลขที่ 141 หมู่ 3 ซอยมอบบอล 2 ห้อง 3 ตรวจพบ IP PBX 8 เครื่อง router WiFi 4 เครื่อง, ห้อง 4 ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
จุดที่ 12 บ้านเลขที่2/4 หมู่ 6 ซอยหนองเกตุ 4 หอพักป้าเดือนตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 5 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
จุดที่ 13 บ้านเลขที่ 9/5 หมู่ 5 ห้อง 3 ตำบลหนองปลาไหล บางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 5 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
จุดที่ 14 หอพักไผ่ศรีสุขห้อง 2 บ้านเลขที่ 215 หมู่ 9 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 5 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า การจับกุมมิจฉาชีพแก็งคอลล์เซ็นเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นผลจากการร่วมทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเอไอเอส ยินดีที่จะสนับสนุนและร่วมทำงานกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพที่จะถูกดำเนินการทางกฏหมายต่อไป โดย AIS ได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ อย่าง กสทช.และฝ่ายความมั่นคงอย่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
กรณีถูกมิจฉาชีพโทรเข้ามารบกวน หรือได้รับ SMS Spam ลูกค้า AIS สามารถโทรเข้ามาแจ้งได้ฟรี ผ่าน IVR Self Service และ AI Chatbot เพื่อให้ข้อมูลเบอร์โทรหรือ SMS ที่คาดว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ โดยเอไอเอสจะดำเนินการตรวจสอบถึงที่มา รายละเอียดการจดแจ้งลงทะเบียน รูปแบบการโทรของเบอร์ดังกล่าว ซึ่งจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นเบอร์หรือ SMS ของกลุ่มมิจฉาชีพหรือไม่ หลังจากนั้นจะดำเนินการบล็อกเบอร์และ SMS นั้นๆ โดยทันที พร้อมแจ้งกลับไปยังลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง