รายงานข่าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 65 นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด หรือ ซีพีพี บริษัทในเครือซีพี ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding – MoU) และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Agreement – MoA) กับ ดร.จงรักษ์ วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อยกระดับงานวิจัยด้านอาหารและการเกษตร ควบคู่กับพัฒนาการศึกษาของประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาหลักสูตร ด้านพัฒนางานวิจัย และด้านการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นเปิดโอกาสให้นิสิตได้แสดงศักยภาพของตนเอง ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและการลงมือทำจริง ช่วยสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีทักษะความรู้ที่ตรงตามความต้องการของตลาด โดยมีคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและบริษัทร่วมด้วย ได้แก่ รศ.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร รศ.อภิสิฎฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล และ ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ
การลงนามความร่วมมือ MoU และ MoA ครั้งนี้ นำไปสู่สัญญาให้ทุนอุดหนุนโครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์กัญชาไทยให้มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีส่วนร่วมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารของไทย ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และมีความเหมาะสมกับบริบทความต้องการของคนไทย เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ และเพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านความร่วมมือในการดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ อาทิ อาหารเพื่อนักกีฬา อาหารเพื่อผู้สูงวัย จุลินทรีย์โปรตีนทางเลือก อาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อยกระดับงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในเชิงอุตสาหกรรม
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ตระหนึกถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านวิชาการ การศึกษาวิจัย รวมถึงการดำเนินกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีความเป็นเลิศในด้านการเกษตร และวิทยาศาสตร์อาหาร จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงองค์กรทั้ง 2 ฝ่าย ในการนำองค์ความรู้ต่อยอดด้านงานวิจัย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยบนเวทีโลก
“ซีพีเอฟมุ่งมั่นส่งมอบอาหารปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยทุ่มเทพัฒนานวัตกรรมที่มุ่งเน้นสุขโภชนาการ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ผู้บริโภคในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้คนไทยมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ผลิตเชิงอุตสาหกรรม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
นายสุเมธ กล่าวว่า ในฐานะของบริษัทที่เป็นดั่งต้นน้ำขอธุรกิจการเกษตรภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีพีทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตกรของไทย ด้วยเหตุนี้เอง ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจคือ “เกษตรกร คือ คู่ชีวิต” เพราะเราต้องการดูแลให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เรามุ่งพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรไทยให้มีประสิทธิภาพและมีความเป็นเลิศไม่แพ้ชาติอื่น บริษัทต้องการเห็นเกษตกรไทยมีรายได้ที่คงที่และยั่งยืน จึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจแบบ Business-to-Customer (B2C) ของเกษตกรไทยมีรูปแบบที่ครบวงจร มีคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่การผลิตไปจนการนำผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ตลาด ร่วมถึงการส่งเสริมการพัฒนาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร การดูแลทางด้านการตลาดให้แก่เกษตกรผ่านนโยบารับซื้อคืน และให้การสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ สำหรับการเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน บริการการเกษตร เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรไทย
ดร.จงรัก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความพร้อมและมีความโดดเด่นในศาสตร์แห่งแผ่นดิน เป็นมหาวิทยาลัยของคนทั้งโลกมากว่า 79 ปี ที่มาร่วมกันใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยผ่านการบริการวิชาการ งานวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมระดับโลก ช่วยเหลือประชาชน ประเทศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรมหาวิทยาลัย และนิสิตปัจจุบันกว่า 70,000 คน จะช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาด้านอาหารและเกษตรเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติร่วมกัน
“ความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กรในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันยกระดับงานวิจัยด้านอาหารและการเกษตร และการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้ก้าวไกลและยั่งยืน ขอขอบคุณ ซีพีพี และ ซีพีเอฟ ที่นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ลงมือทำจริงเข้ามาเชื่อมโยงและเติมเต็มองค์ความรู้ในสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาวิชาการและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ตลอดจนถ่ายทอดความรู้แก่สังคม”